ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นพ.ไพจิตร์ วราชิต แถลงพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่2009 รายใหม่แล้ว102 คน

สธ.เผยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่พบผู้เสียชีวิตหวัด 2009 แต่ป่วยเพิ่มอีก 102 คน สั่งทุกจังหวัดเฝ้าระวังไข้หวัดนก หลังมีสัญญาณผู้เสียชีวิตในเวียดนาม 1 ราย หวั่นผสมกับหวัด 2009 โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ทั้งในสัตว์และคน ให้ส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการทุกราย พร้อมจับตา 5 จังหวัดระบาดมากสุด กทม.เชียงใหม่ จันทบุรี สุโขทัย โคราช

วันนี้ (2 ธ.ค.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 23-29 พฤศจิกายน 2552 ทั่วประเทศไม่มีผู้เสียชีวิต โดยยอดสะสมผู้เสียชีวิตตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 ยังเท่าเดิม คือ 187 ราย แต่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 102 คน คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 46.33 ต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นจาก 2 สัปดาห์ที่แล้วเล็กน้อย ที่มีอัตราป่วยร้อยละ 46.01 ต่อแสนแระชากร ข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก 27 พฤศจิกายน 2552 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 7,826 ราย อยู่ในแถบภาคพื้นอเมริกา 5,360 ราย ยุโรปไม่น้อยกว่า 650 ราย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 738 ราย แปซิฟิกใต้ 644 ราย เมดิเตอเรเนียนตะวันออก 330 ราย และแอฟริกา 104 ราย

“สถานการณ์การระบาดยังไม่รุนแรง โดยจากการสุ่มตรวจเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่พัก รักษาที่โรงพยาบาล ผลตรวจเชื้อพบเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ขณะที่ช่วยที่มีการระบาดเมื่อกลางปีที่ผ่านมี พบผู้ป่วยมากถึงร้อยละ 60-70 และยังไม่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ในภาพรวมการระบาดของโรคยังมีประปรายอยู่อำเภอและชุมชน พบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวมเพิ่มขึ้น เช่น สุโขทัย จันทบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และกรุงเทพฯ” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สำหรับโรคไข้หวัดนกชนิด เอช5เอ็น1 ซึ่งขณะนี้มีข่าวผู้เสียชีวิตที่จังหวัดเดียนเบียน ประเทศเวียดนาม 1 ราย เป็นชายวัย 23 ปี ติดเชื้อจากการกินเลือดเป็ดดิบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยต้องระมัดระวัง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือไม่ให้เชื้อไข้หวัดนก ผสมพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จนกลายไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น จึงให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังผู้ป่วยปอดบวมอย่างต่อเนื่อง และซักประวัติการสัมผัสสัตว์ทุกรายโดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ไข้หวัดนกทั้งสัตว์ปีกและคน ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการที่ดูแลพื้นที่ลงควบคุมกำกับอย่างเคร่งครัด ในกรณีพบผู้ป่วยปอดบวมให้ส่งตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการทุกราย

ด้านนพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ไข้หวัดนกของไทย ไม่มีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกติดต่อกันมากว่า 3 ปี แต่ประมาทไม่ได้ กรมควบคุมโรคได้ประสานการทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด ทั้งส่วนกลางและในระดับพื้นที่

โดยเฉพาะ ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้ใช้มาตรการควบคุมป้องกันขั้นสูงสุด เพื่อกันคนติดเชื้อ ในระดับนโยบายจะมีการประชุมร่วมกันในเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานในรอบใหม่ เสนอต่อคณะกรรมการไข้หวัดนกระดับชาติ ที่มีพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ หากประชาชนพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในช่วงนี้เป็นต้นไป ขอให้รีบแจ้ง อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปศุสัตว์ เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าติดเชื้อไข้หวัดนกหรือ ไม่ และไม่จับซากสัตว์ด้วยมือเปล่า รวมทั้งไม่กินสัตว์ปีกที่กำลังป่วย หรือที่ตายแล้ว เพราะจะทำให้เสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดนกได้ โรคนี้มีอัตราป่วยตายสูงถึงร้อยละ 60

ที่มาข่าว http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000146784