ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ยอดผู้เสียชีวิตในไทยสังเวย "ไข้หวัด 2009" พุ่ง21ศพ แถมติดเชื้ออีกเพียบ

กระทรวงสาธารณสุข ประกาศขึ้นทะเบียนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มเป็น 21 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 3,883 คน อาการน่าเป็นห่วงเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด10 คน.
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของไทย ว่า ตั้งแต่ 28 เมษายน 2552-13 กรกฎาคม 2552 มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 3,883 ราย เสียชีวิต 21 ราย เฉพาะวันนี้ได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันผู้ป่วยรายใหม่ 328 ราย มีผู้ป่วยอาการหนักต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด 10 ราย โดยผู้เสียชีวิตที่ได้รับรายงานวันนี้ 3 ราย ล้วนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ดังนี้

ราย ที่ 19 เป็นชาย อายุ 13 ปี น้ำหนักตัว 120 กิโลกรัม ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกทม. เมื่อ 29 มิถุนายน 2552 แพทย์ให้ยาและให้สังเกตอาการที่บ้าน ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 อาการหนักขึ้น ตรวจพบมีปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2552 ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2552

ราย ที่ 20 เป็นหญิงอายุ 53 ปี อยู่กทม. เริ่มป่วยมีไข้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ไปรับการรักษาที่คลินิก ต่อมาไข้สูง หายใจหอบ ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แพทย์ตรวจพบปอดอักเสบรุนแรงทั้ง 2 ข้าง รับไว้รักษาในโรงพยาบาล และเสียชีวิตในวันที่ 12 กรกฎาคม 2552 ผู้เสียชีวิตรายนี้มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาหลายปี

ราย ที่ 21 เป็นหญิง อายุ 46 ปี อยู่จังหวัดสกลนคร มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานมา 6 ปี เริ่มป่วยตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2552 แต่ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนด้วยอาการไข้สูง ไอ หายใจติดขับ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 เอ็กซ์เรย์พบปอดบวม ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์วันที่ 11 กรกฎาคม 2552 ต่อมาอาการทรุดลง เสียชีวิตวันที่ 12 กรกฎาคม 2552

นาย แพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดจัดทำข้อมูลรายชื่อผู้มีโรคประจำตัว 2.4 ล้านคน ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรง หากป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่ฯ ก่อน โดยมอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 19 เขต รวบรวมจากสถานพยาบาลในพื้นที่รับผิดชอบ และตรวจสอบกับฐานข้อมูลของสปสช. ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวกลุ่มนี้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง โดยให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ผู้ที่มีโรคประจำตัว และให้ทันเวลาที่การทดสอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เสร็จสิ้น พร้อมฉีดให้กับกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนต่อไป

เนื่อง จากขณะนี้มีประชาชนสอบถามข้อมูลโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทางหมายเลข 0-2590-1994 และ 0-2590-3333 วันละกว่า 500 ส่วนใหญ่ถามเรื่องอาการ วิธีป้องกัน การรักษาพยาบาล และวัคซีน แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจและต้องการข้อมูลที่หลากหลาย กระทรวงสาธารณสุขจึงเปิดสายด่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เพิ่มอีก 10 คู่สายทางหมายเลข 0-2590-1422 และให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ จัดบริการสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์แก่ประชาชนในพื้นที่ร่วมด้วย

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/19214

"ไข้หวัด 2009" ระบาดหนัก "WHO" ยอมรับ ยับยั้งไม่อยู่

เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก ชี้ทุกประเทศต้องมีวัคซีนป้องกัน และผลิตให้ได้อย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ย.ระบุระบาดจนไม่สามารถหยุดยั้งได้ แล้ว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลก 429 ราย ติดเชื้ออีกกว่า 9 หมื่นคน.



สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันนี้ (14 ก.ค.) นางมารี ปอล คีนี ผู้อำนวยการวิจัยวัคซีนขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญสรุปหลังการหารือว่าขณะนี้ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาดถึง ขั้นที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้แล้ว ทุกประเทศจำเป็นต้องมีวัคซีนป้องกัน กลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อนเป็นกลุ่มแรกคือ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข เพราะต้องดูแลผู้ป่วยที่จะมีจำนวนมากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องให้ความ สำคัญต่อสตรีมีครรภ์ ผู้มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง และให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อเด็ก เพราะเป็นกลุ่มที่จะกระจายเชื้อเมื่ออยู่รวมกันในโรงเรียน

สถิติล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า พบผู้ป่วยแล้วไม่ต่ำกว่า 90,000 รายทั่วโลก ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 429 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ดี มีผลการศึกษาใหม่เผยแพร่วานนี้ว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เอ เอช 1 เอ็น 1 จะทำให้ปอดเสียหายมากกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ยังคงตอบสนองต่อยาต้านไวรัส

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของประเทศไทย ตั้งแต่ 28 เม.ย.2552-13 ก.ค.2552 มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 3,883 ราย เสียชีวิต 21 ราย เฉพาะวันที่ 13 ก.ค.2552 ได้รับรายงานผู้เสียชีวิตถึง 3 ราย ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง.

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/19372