ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สมุนไพร 9 ชนิดตำรับ "หลวงปู่ทวด" รักษาโรคหวัดตามฤดูกาลได้ แต่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ 2009

อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ การันตีสมุนไพร 9 ชนิด ตำรับหลวงปู่ทวด ปลอดภัย มีสรรพคุณรักษาโรคหวัดตามฤดูกาลได้ แต่ไม่พบยาตำรับแผนไทยรักษาหวัด 2009 แทนยาโอเซลทามิเวียร์
วันนี้ (20 ส.ค.) นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณียาสมุนไพรตำรับหลวงปู่ทวด ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่เป็นยาต้มมีสมุนไพรไทย 9 ชนิด ว่า ขณะนี้ยังไม่มียาตำรับแพทย์แผนไทยชนิดใดรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แทนยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ หรือซานามิเวียร์ได้ แม้แต่สมุนไพรไทยฟ้าทะลายโจร ก็มีสรรพคุณป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรส่วนใหญ่ให้ข้อมูลตรงกันว่า สูตรยาสมุนไพรไทยดังกล่าวมีความปลอดภัย แต่ยังไม่มีรายงานผลการวิจัยทางการแพทย์รองรับอย่างเป็นทางการว่าจะต้องรับ ประทานในปริมาณเท่าใดจึงจะป้องกันไข้หวัดได้

“สมุนไพร สูตรยาต้มดังกล่าวมีส่วนผสมหลายชนิดที่มีสรรพคุณช่วยลดไข้ และเป็นสมุนไพรที่พบได้ในครัวเรือนเพียงเช่น ฟ้าทะลายโจร ลูกใต้ใบ ขมิ้นชัน ตะไคร้ ใบมะรุม หัวไพล ลูกมะตูม ลูกมะขามป้อม ส่วนอิฐมอญ ที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าทานแล้วอันตรายต่อสุขภาพนั้น ในตำรับสมุนไพรไทยโบราณถือเป็นยาธาตุเย็น ช่วยลดไข้ได้ นอกจากนี้ ในสมุนไพรไทยโบราณมักนิยมนำมูลสัตว์ เช่น ชะมดเช็ด มาปรุงยาซึ่งสรรพคุณของดินในแพทย์แผนไทย ถือเป็นยา แก้อาการไข้ได้” นพ.นรา กล่าว

ที่มา: http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000094996

"วัคซีนเชื้อเป็น" สำหรับไข้หวัดใหญ่ 2009 ความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง

ในขณะที่หลายคนกังวลว่า ไทยจะผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ไม่ทันความต้องการ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องจับตานอกเหนือจากนั้น นั่นคือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้วัคซีน "เชื้อเป็น" ที่ยังไม่ชัดเจนว่าก่อความรุนแรงต่อผู้รับวัคซีนหรือทำให้เกิดการเปลี่ยน แปลงพันธุกรรมในไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไม่ และมีเพียง สหรัฐฯ และรัสเซียที่ทำก่อน ส่วนไทยเพิ่งจะเริ่มศึกษาไปพร้อมๆ กับอินเดีย
รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าว ระหว่างการเสวนา "แผนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ระดับโรงงานขนาดใหญ่" ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ณ อาคาร สวทช. (ถนนโยธี) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 20 ส.ค.52 ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์เข้าร่วมฟังด้วยว่า วัคซีน ไข้หวัดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นผลิตมา "เชื้อตาย" (Inactivated vaccine) ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมกำลังผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จาก "เชื้อเป็น" (Live attenuated vaccine) ของไวรัส

การผลิตวัคซีนจากไวรัสเชื้อเป็นนั้น รศ.นพ.ประสิทธิ์ อธิบายคร่าวๆ ว่าเป็นการทำให้เชื้อไวรัสอ่อนแรง แล้วให้เข้าไปเจริญเติบโตในร่างกายได้ แต่อ่อนแอเกินกว่าจะเกิดโรคและทำอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งข้อ แตกต่างระหว่างการใช้เชื้อเป็นและเชื้อตาย คือถ้าใช้วัคซีนเชื้อตายจะต้องฉีดให้แก่ผู้รับในปริมาณมาก ขณะวัคซีนเชื้อเป็นจะฉีดให้ผู้รับในปริมาณที่น้อยกว่า

ดังนั้น เมื่อเกิดการระบาดจึงเลือกใช้ "เชื้อเป็น" เพื่อผลิตวัคซีน แต่ปัญหาคือวัคซีนจากเชื้อเป็น จะใช้ได้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดีและสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีมีผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่นผู้ที่ผ่านการทำเคมีบำบัด ป่วยเรื้อรัง ที่อาจเกิดอาการไม่ดีเมื่อวัคซีนได้

สำหรับเชื้อเป็น ของไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้น ถูกทำให้อ่อนแรงโดยนำไปแช่ที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้เจริญเติบโตได้ไม่ดี แต่ยังไม่ตาย ซึ่ง ภก.สิทธิ์ ถิระภาคภูมิอนันต์ ผู้อำนวยการกองผลิตวัคซีนจากไวรัส องค์การเภสัชกรรม (อภ.) อธิบายว่า เชื้อไวรัสตั้งต้นสำหรับผลิตวัคซีน จะเติบโตที่อุณหภูมิ 32-33 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเจริญเติบโตได้ที่ทางเดินหายใจตอนต้น แต่จะอยู่ไม่ได้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 37 องศาเซลเซียสขึ้นไป

ทั้งนี้ ข้อควรระวังในการใช้วัคซีนจากเชื้อเป็นคือ ไม่ใช้กับผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง คนท้อง ผู้ป่วยหอบหืด ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ และใช้ในเด็กได้ตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป

ทั้งนี้มีประเทศที่ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็นอยู่แล้วคือสหรัฐฯ และรัสเซีย ส่วนประเทศที่กำลังศึกษาคือไทยและอินเดีย โดยไทยนำเข้าเชื้อไวรัสอ่อนแรงจากรัสเซีย ซึ่งมีการทดสอบว่าใช้ได้ในเด็ก และการทดสอบวัคซีนต้องแน่ใจได้ว่า เชื้อจะไม่เติบโตได้ที่อุณภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส พันธุกรรมของเชื้อเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และมีการทดสอบตามข้อกำหนดก่อนนำออกไปใช้
อย่างไรก็ดี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสู่คน ซึ่งเข้าร่วมเสวนาด้วยนั้น ได้กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ถึงประเด็นที่ควรต้องจับตามองต่อวัคซีนไข้หวัดใหญ่สาย พันธุ์ 2009 จากเชื้อเป็นว่า ยัง ไม่เคยมีประเทศใดใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จากเชื้อเป็น ทั้งนี้ต้องตั้งคำถามว่ามีประเทศไหนบ้าง ที่ใช้วัคซีนจากเชื้อเป็น เพื่อความอุ่นใจ ซึ่งหากมีประเทศที่ทำได้แล้ว เราจะได้สอบถามได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่

อีกทั้งเชื้ออ่อนกำลังที่นำมาจากรัสเซียนั้น ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนในสัตว์ทดลองว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้ทั้งในระดับเซลล์ และในภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือไม่ แล้วใช้สัตว์ในการทดลองไปกี่ตัว เมื่อทดลองฉีดเชื้อในสัตว์แล้วยังมีไวรัสปล่อยออกมาจากสัตว์ได้กี่วัน ซึ่งประเด็นหลังนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้ยกตัวอย่างกรณีให้วัคซีนโปลิโอทางปากแก่เด็กแล้ว ได้ไวรัสที่มีพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปออกมาทางอุจจาระของเด็ก และพ่อซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเด็กแล้วได้รับเชื้อดังกล่าวไปกลายเป็นอัมพาต

อีกตัวอย่างคือกรณีไข้หวัดใหญ่หมูที่ระบาดเมื่อปี ค.ศ. 1976 นั้น สหรัฐฯ ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชากร และภายหลังจากนั้น 6 สัปดาห์เกิดพบผู้มีอาการแขนขาอ่อนแรงและเส้นประสาทอักเสบ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีเชื้อปนเปื้อนจากขั้นตอนการผลิตวัคซีนในไข่ที่มีเชื้อ ปนเปื้อนอยู่ โดยวัคซีนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันวิกฤตที่ทำลายเส้นประสาทตัวเอง ซึ่งการใช้วัคซีนกับประชากร 6-7 พันคนไม่พบอาการดังกล่าว แต่พบเมื่อใช้วัคซีนกับประชากร 40-45 ล้านคน

" สิ่งที่คาดเดาไม่ได้คือในไวรัสของวัคซีนนั้นทำให้เกิดภูมิคุ้มกันวิกฤตขึ้น หรือไม่ แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับในกรณีของการระบาดขึ้นมา" ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวถึงความเสี่ยงจากการใช้วัคซีนเชื้อเป็นที่เราต้องยอมรับ ซึ่งต่างจากวัคซีนเชื้อตายที่ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่กำลังการผลิตจะไม่ทันต่อการระบาด

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดของวัคซีนเชื้อเป็นตรงที่ใช้ได้กับผู้ที่มี อายุระหว่าง 2-49 ปีเท่านั้น ขณะที่เด็กและคนชราเป็นกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีน แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะใช้วัคซีนเชื้อเป็น.

ที่มา: http://manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000095023