ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อดีตนายกทักษิณเปิด facebook แนะนำการแก้ปัญหาไข้หวัดพันธุ์ใหม่ 2009

‘วิทยา’ บอก เป็นความตั้งใจดี แต่คงไม่สมัครแข่ง เพราะเชื่อมั่นในมาตรฐานก.สาธารณสุข ปัดให้คะแนนการแก้ไขปัญหาหวัด 09 บอกที่ผ่านมาได้ปรับปรุงตัวเองมาตลอด ให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชน ไม่ปิดปัง

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าววันนี้ (24 ก.ค.) ถึงกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิด Facebook แนะ นำการแก้ปัญหาไข้หวัดพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า เป็นความตั้งใจดี ที่ช่วยเหลือประชาชน ตนคงไม่สมัครแข่งอย่างแน่นอน เพราะมากหมอก็มากความ สิ่งสำคัญเชื่อมั่นในมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข หากมีการล้วงลูกหรือเกินหลักวิชาการ ประชาชนอาจสับสน

เมื่อ ถามถึงการให้คะแนนการแก้ไขปัญหาไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ นายวิทยา ปฏิเสธที่จะให้คะแนนตนเองว่าสอบผ่านหรือไม่ โดยระบุว่า มีการปรับปรุงตนเองมาตลอด พยายามให้ข้อมูลที่แท้จริงกับประชาชนมากที่สุด ไม่ปิดปัง

ส่วน การชุมนุมใหญ่ที่วัดแก้วฟ้า จ.นนทบุรี รมว.สธ. กล่าวว่า การรักใครชอบใคร มากแค่ไหนควรดูแลสุขภาพตัวเองด้วย หากมีการเจ็บป่วยไม่ควรอยู่ร่วมในสถานที่แออัด

นาย วิทยา กล่าวถึงข่าวร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่า เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย สปสช. ทางโรงพยาบาลไม่ยอมให้ยาต้านไวรัสจนทำให้เสียชีวิต นั้น ได้ สั่งการให้นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับให้กวดขันเรื่องมาตรฐานการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 และการให้ยาต้านไวรัส ของโรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย สปสช. ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และมอบหมายให้นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ทั้งในและนอกเครือข่าย สปสช. อีกได้

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/21737

อังกฤษพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้วกว่า 1 แสนคน

วันนี้ (24 ก.ค.) กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 คน จากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ประกอบด้วยในอังกฤษ 26 คน และสกอตแลนด์ 4 คน ส่วนอีก 840 คน อยู่ในโรงพยาบาลที่อังกฤษ ซึ่งรวมถึงที่อยู่ในหอผู้ป่วยหนักอีก 63 คน
ด้านเจ้าหน้าที่แพทย์อังกฤษ เปิดเผยถึง ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีอยู่ 55,000 คน ว่า เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่คนไข้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง นอกจากนี้ อังกฤษได้จัดตั้งระบบบริการสายด่วนในการสั่งยาต้านไวรัสทางโทรศัพท์ เพื่อให้สามารถสั่งจ่ายยาต้านไวรัสทางอินเตอร์เนต และทางโทรศัพท์ได้ โดยมีเจ้าหน้าที่สอบถามอาการในเบื้องต้นก่อน.

ที่มา: http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=5&contentID=10059

ปัญหาการระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ปัจจัยลบอันดับ1ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทรรศนะประชาชนต่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน วันที่ 17-22 ก.ค.52 ว่าปัญหาการระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 กลายเป็นปัจจัยลบอันดับหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งด้านท่องเที่ยวและการบริโภคประชาชน โดยคาดว่าหากการระบาดเกิดขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสสาม จะทำให้รายได้ท่องเที่ยวและการบริโภคลดลง 30,000-60,000 ล้านบาท และทำให้จีดีพีไตรมาสสาม -3.5% ถึง -4.5% ขณะที่ จีดีพีทั้งปีเหลือ -3.8% ถึง -4.8% แต่หากการระบาดยังยืดเยื้อถึงไตรมาสสี่ จะกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวและการบริโภคลดลง 60,000-120,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีไตรมาสสี่ -0.5% ถึง -1% และจีดีพีทั้งปีติด -4% ถึง -5.5%

ทั้งนี้การระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัย เพราะตอนนี้คนกลัวติดไข้หวัดจนไม่กล้าเดินทางออกไปใช้จ่าย ท่องเที่ยว ชอปปิง กินอาหารนอกบ้านทั้งกลางวันกลางคืน ทำให้ภาคธุรกิจจะขายสินค้าและบริการได้น้อยลง จำเป็นต้องจัดโปรโมชั่นมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งจุดนี้จะกลายเป็นปัจจัยลบสำคัญต่อการสำรวจดัชนีผู้บริโภคของเดือน ก.ค. รวมถึงเงินเฟ้อให้ติดลบได้นานกว่าที่คาดหมายด้วย

“ต้องยอมรับว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีผลกระทบทางจิตวิทยา และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดว่าจะฟื้นตัว ไตรมาสสี่ เพราะทำให้การบริโภคและกิจกรรมบันเทิงลดลง และยิ่งมีคนติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น ประชาชนก็ยิ่งมีความกังวล ซึ่งสะท้อนว่าคนไทยยัง ไม่มั่นใจต่อมาตรการป้องกันไข้หวัดของรัฐที่ออกมา เพราะแนวโน้มการระบาดในไทยยังเพิ่มสูง จากต้นทุนเดือน ก.ค.ที่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อเพียง 0.4% แต่ขณะนี้เพิ่มเป็น 0.65% และยังมีคนติดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องเร่งทำคือการป้องกันดูแลให้ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลง ควบคู่กับการบริหารเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ภายใต้การดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่พูดเพียงว่าให้เชื่อมั่นเถอะ โดยถ้ารัฐเรียกความเชื่อมั่นประชาชน กลับมาได้ แม้การระบาดยังมีอยู่แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจน่าจะคลายความรุนแรงลงได้

นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำการ สำรวจความคิดเห็นประเด็นเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจระบุว่า ประชาชน 51.4% รู้สึกกังวลเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ 2009 กังวลมากที่สุด 15.7% ปานกลาง 25.1% น้อย 6.1% น้อยที่สุด 1.2% ไม่กังวล 0.5% โดยให้คะแนนความกังวล 3.75 คะแนน จากเต็ม 5 คะแนน ซึ่งทำให้ผู้ตอบ 42.1% ระบุว่าจะมีการใช้จ่ายน้อยลง ส่วนอีก 43.6% ไม่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มขึ้นเพียง 14.3% โดยผลสำรวจ 28.8% ระบุว่า การระบาดไข้หวัดคือปัจจัยลบอันดับหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศแย่ รองลงมาเป็นความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจไทย 19.4% ราคาสินค้าสูงขึ้น 16.5% และราคาน้ำมันแพง 11% นอกจากนี้การระบาดของไข้หวัดยังเป็นปัจจัยลบสูงสุดถึง 31.4% ที่ทำให้การบริโภคลดลง มากกว่าภาวะเศรษฐกิจแย่ และราคาสินค้าสูงขึ้น

“ผลสำรวจสะท้อนว่าปัญหาไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคของคน ทำให้การเข้าชมภาพยนตร์ การซื้อสินค้านอกบ้านตามแหล่งชุมชน การชมคอนเสิร์ต การแสดงที่มีคนมาก และระยะเวลาในการเลือกซื้อสินค้าลดลง”.

ที่มา: http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=10020

ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาด แรงส่งอุตสาหกรรมสิ่งทออู้ฟู่ ยอดสั่งผลิตหน้ากากอนามัยทะลัก

ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยปัจจุบันพนักงานในโรงงานสิ่งทอมีรายได้เสริมจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สาย พันธุ์ใหม่ 2009 อย่างมาก เนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อหน้ากากอนามัยมากจนผลิตไม่ทัน ...



นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพนักงานในโรงงานสิ่งทอมีรายได้เสริมจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สาย พันธุ์ใหม่ 2009 อย่างมาก เนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อหน้ากากอนามัยมากจนผลิตไม่ทัน ดังนั้น ผู้ผลิตต่างเพิ่มเวลาผลิตสินค้า ส่งผลให้เอสเอ็มอีบางรายดำเนินกิจการจนอยู่รอดอีกระยะหนึ่งจากเดิมที่ไม่ ค่อยมีรายได้จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ช่วง 5 เดือนแรกของปีมีโรงงานสิ่งทอปิดกิจการแล้ว 40 ราย มีพนักงาน 3,000 คน เพราะไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้าได้ ส่วนที่เปิดกิจการใหม่มี 56 ราย จ้างงานเพิ่ม 6,000 คน ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นผู้ที่ปิดกิจการแล้วหาผู้ร่วมทุนใหม่ ส่วนใหญ่เป็นตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป โรงงานทอผ้า โดยสถานการณ์ยอดขายของสิ่งทอและเครื่อง นุ่งห่มครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มที่ดีกว่าครึ่งแรก คาดว่ารายได้ส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 7,100-7,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่ำกว่าปีก่อน 7-10% ขณะเดียวกันโรงงานยังขาดแคลนแรงงานอีก 1-2 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นวิศวะเคมีสิ่งทอออกแบบผลิตภัณฑ์

นายวิรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนมาก เนื่องจากมีมูลค่าตลาด 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี ขณะที่ไทยส่งออก 1,000 ล้านเหรียญฯ และสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 3,000 ล้านเหรียญฯ ดังนั้น สินค้าที่เหลืออีก 1.2 หมื่นล้านเหรียญฯมาจากประเทศอื่น เช่น จีน อียู ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เบื้องต้นเอกชนไทยเร่งสำรวจความต้องการสินค้าสิ่งทอของผู้บริโภคในประเทศอา เซียนเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากนอกกลุ่มประเทศอาเซียน.

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/eco/21439