ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"วิทยา แก้วภราดัย" เตรียมขับเคลื่อนส่ง อสม. 9 แสนคน สำรวจกลุ่มเสี่ยงไข้หวัดใหญ่ 2009

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเตรียมขับเคลื่อน อสม. 9 แสนคน ทั่วประเทศ ออกสำรวจประชากร ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อหากลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่



นาย วิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าววันนี้ (26 ก.ค.) ในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราชว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับคงที่แล้ว และเริ่มกระจายสู่ต่างจังหวัด ตั้งแต่ครึ่งเดือนที่ผ่านมา ดังนั้น หากมีผู้ป่วยเกิดขึ้น ชุดเคลื่อนที่เร็วจะต้องตรวจสอบโดยเร็ว โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ จะต้องติดตามวิเคราะห์ และควบคุมโรค เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ขณะที่บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องเตรียมพร้อม

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานกับ อสม. ป้องกันไม่ให้ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระบาดในชนบท โดยสัปดาห์หน้า จะขับเคลื่อน อสม.กว่า 9 แสนคน ทั่วประเทศ ออกสำรวจครัวเรือนพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว คนอ้วน คนสูงอายุที่สุขภาพไม่ดี เป็นต้น จากนั้นจะทำบัญชีรายชื่อ และคัดกรอง หากกลุ่มเสี่ยงมีอาการป่วย ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ส่วนคนที่มีสุขภาพดี ถ้าป่วยให้พักผ่อนอยู่กับบ้าน สังเกตอาการ โดยมติคณะรัฐมนตรีออกมาแล้วว่า ให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงาน หยุดอยู่กับบ้านได้ โดยไม่คิดเป็นวันลา

ส่วนผู้ที่สุขภาพดี ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 นั้น นายวิทยา กล่าวว่า มีประมาณร้อยละ 35 เพราะได้รับยาต้านไวรัสช้าเกินไป เนื่องจากเมื่อมีอาการป่วยแล้ว ไปรับการรักษาที่คลินิก ซึ่งครั้งแรกไม่หาย แล้วไปรักษาที่คลินิกซ้ำอีกครั้ง เมื่อไปโรงพยาบาลจึงไม่ทันการ จึงสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประสานกับคลินิกภายในจังหวัดว่า หากมีผู้ป่วยที่มีอาการมาแล้ว 2 วัน ไข้ยังไม่ลด ให้ส่งโรงพยาบาลทันที และโรงพยาบาลใด ที่มีผู้ป่วยอาการหนัก สามารถขอกำลังเสริม ระดมแพทย์เชี่ยวชาญ มาช่วยเหลือผู้ป่วยได้ โดยในพื้นที่ภาคใต้ มีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นศูนย์กลางในการดูแล

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/22135

หมอประเสริฐ เตือนสติ "คลินิก" ให้สั่งจ่าย "โอเซลทามิเวียร์" รักษา "ไข้หวัดใหญ่ 2009"

“หมอประเสริฐ” เตือนสติให้ “คลินิก” สั่งจ่าย “โอเซลทามิเวียร์” รักษาหวัด 2009 เผยต้องหารือข้อมูลรอบด้าน หวั่นเกิดผลข้างเคียงเหมือนญี่ปุ่น ไทยสำรองโอเซลทามิเวียร์ 15.2 ล้าน ผลิตเพิ่มอีก 10 ล้านเม็ด กระจายยาทั่วประเทศแล้วกว่า 2 ล้านเม็ด

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับ ชาติ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีความคิดที่จะขอหารือเกี่ยวกับจ่ายยา “โอเซลทามิเวียร์” รักษาหวัด 2009 ในระดับคลินิกในพื้นที่ต่างๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่ว่า ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ผลดีคือ ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาดังกล่าวเร็วขึ้น แต่ผลเสียคือบางคนอาจไปขอยาที่คลินิกใช้เพื่อการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สาย พันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งจุดประสงค์ของทีมวิชาการต้องการให้ยาดังกล่าวใช้เพื่อการรักษามากกว่า การป้องกัน เพราะเกรงเรื่องผลข้างเคียงของยา

“ที่ญี่ปุ่นพบว่าผลข้างเคียงของยาดังกล่าวทำให้เด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตาย แต่ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลนี้ และไม่ทราบว่าจะเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ เนื่องจากบริบทของคนญี่ปุ่นกับคนไทยในเรื่องการฆ่าตัวตายมีความต่างกัน จึงไม่ทราบว่าในไทยหากใช้ยาเพื่อการป้องกันจะเกิดผลเสียอย่างไร พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามและทีมที่ปรึกษาฯจำเป็นต้องมาชั่ง น้ำหนักโดยนำข้อมูลรอบด้านมาหารืออีกครั้ง”ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

ด้านรศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการกระจายยาดังกล่าวในระดับคลินิก เพราะเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในการพิจารณาของฝ่ายวิชาการ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบครอบทั้งผลดีและผลเสีย โดยวัตถุประสงค์มาจากดำริที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องการเข้าถึงยาโอเซลทามิ เวียร์ของผู้ป่วยช้าไป เพื่อหวังผลการในการดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งการรักษาพยาบาลไม่ใช่เพียงแต่เรื่องยาเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงยาลดไข้ การให้น้ำเกลือ การเฝ้าสังเกตอาการ ฯลฯ เป็นองค์ประกอบร่วมกันในการรักษา

“ข้อดีคือ ผู้ป่วยเข้าถึงยาในการรักษาได้เร็วขึ้น แต่การได้รับยาเร็วนั้นจะเร็วเกินไปจนได้ผลเสียหรือไม่ต้องพิจารณา ทั้งนี้หากมีการกระจายยาในระดับคลินิกท้องถิ่นแล้วค่อนค้างจะมีการคุมการใช้ ยายาก อีกทั้งความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่า ผู้ที่มาใช้บริการในคลินิกจะต้องเสียเงินหากได้รับยาโอเซลทามิเวียร์ ในขณะที่หากผู้ป่วยเดินทางไปยังสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีสิทธิอยู่ อาทิ สถานพยาบาลสิทธิต่างๆของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก็ไม่เสียค่ายา แต่หากคลินิกจะบริหารจัดการอย่างไร”รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

**ไทยสำรองโอเซลทามิเวียร์ 15.2 ล้าน
นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคมียาโอเซลทามิเวียร์ทั้งหมด 5.2 ล้านเม็ด แบ่งเป็น ยาเดิมที่มีจากงบประมาณปี 2551 จำนวน 3.2 ล้านเม็ด จากนั้นในงบปี 2552 ได้สำรองเพิ่มอีก 1 ล้านเม็ด จากนั้นองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ผลิตสำรองให้อีก 1 ล้านเม็ด ซึ่งขณะนี้ได้กระจายลงในพื้นที่ทั่วประเทศแล้วกว่า 2 ล้านกว่าเม็ดแล้ว ส่วนที่เหลือสำรองอยู่ที่กรมควบคุมโรคและอภ. ส่วนที่ได้จัดสรรของบกลางอีก 10 ล้านเม็ดกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อ นอกจากนี้ยังมีอภ.เดินหน้าการผลิตสำรองอีก 10 ล้านเม็ดก่อนหน้านี้เพื่อสำรองยา

“หากจะมีการกระจายยาดังกล่าวในระดับคลินิกคิดว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) จะสามารถควบคุมปริมาณการใช้ได้ดีก็ไม่น่ามีปัญหาใดๆ คลินิกใดจ่ายยาหมดก็มาเบิกจากสสจ. ซึ่งขณะนี้ทางโรงพยาบาลระดับจังหวัด และระดับชุมชนก็ใช้การบริหารจัดการดังกล่าวอยู่เช่นกัน”นพ.มล.สมชาย กล่าว

ที่มา: http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000083982

ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของ "วัคซีนหวัด2009" จะออกหัวหรือออกก้อย?

นับเป็นข่าวดี ที่ประเทศไทยจะผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดพ่น ซึ่งทำจาก “เชื้อเป็น” ออกมา ใช้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ตั้งแต่ยังไม่เริ่มกระบวนการผลิต ทำให้หลายฝ่ายจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ท้ายที่สุดแล้ว “วัคซีนหวัด 2009” ที่ประเทศไทยจะผลิตได้เป็นครั้งแรกจะออกหัวหรือออกก้อย

ก่อนจะมาเป็นวัคซีน แน่นอนว่าจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การเตรียมวัคซีนต้นแบบ การทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลองและหลอดทดลอง การวิจัยทางคลินิก หรือการศึกษาวิจัยในคน การขึ้นทะเบียน การควบคุมคุณภาพ และหลังจาก นำวัคซีนไปใช้แล้วยังต้องมีการเฝ้าระวังหลังการจำหน่าย อีกด้วย

กระบวนการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กองชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ด้วยเหตุนี้ “X-RAY สุขภาพ” จึงมาพูดคุยกับ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นางธีรนารถ จิวะไพศาลพงศ์ ผอ.กองการชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นพ.นิพนธ์ อธิบายปูพื้นให้ฟังว่า “ยาชีววัตถุ” หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มุ่งหมายสำหรับนำมาใช้โดยตรงต่อร่างกายของมนุษย์ในการ วินิจฉัยบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค อาทิ สารกระตุ้น ภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนท็อกซอยด์ สารภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เช่น เซรุ่มแก้พิษงู ภูมิคุ้มกันตับอักเสบบี ภูมิคุ้มกันบาดทะยัก ผลิตภัณฑ์จากเลือด ผลิตภัณฑ์จากเซลล์ต้นกำเนิด สารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีการนำเข้า หรือมีการผลิตยาชีววัตถุเหล่านี้ ก่อนจะนำไปขึ้นทะเบียน และนำไปจำหน่าย ใช้กับประชาชนจะต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย และประสิทธิภาพจากกองชีววัตถุก่อนทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะผ่านมาตรฐาน มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ตกมาตรฐาน สาเหตุเป็นเพราะกระบวนการวิจัยและพัฒนา ไม่ได้มาตรฐาน เป็นการนำเข้าจากประเทศที่กระบวนการผลิตไม่ดีนัก

“วัคซีน” คือ สารอนุมูล หรือสิ่งแปลกปลอมใด ๆ ที่ถูกจดจำได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเรียกว่า “แอนติเจน” ซึ่งก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า “แอนติบอดี้” ที่ถูกสร้างจากเซลล์ลิมโฟไซท์ชนิด บี เซลล์ ที่ถูกกระตุ้นด้วยแอนติเจนชนิดใด ก็จะมีความจำเพาะต่อแอนติเจนชนิดนั้นเท่านั้น

ด้าน นางธีรนารถ อธิบายว่า “วัคซีนเชื้อเป็น” คือ วัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยเอาเชื้อโรค มาทำให้ฤทธิ์อ่อนลง จนไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ แต่เพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ประเทศที่ผลิตวัคซีนต้องมีการควบคุมกำกับคุณภาพและความปลอดภัย โดยหน่วยงานของภาครัฐ ตั้งแต่ 1.การขึ้นทะเบียนตำรับยา 2.การควบคุมรุ่นการผลิต 3.ห้องปฏิบัติการกลางในการตรวจรับรองคุณภาพวัคซีน 4.การตรวจสอบมาตรฐานการผลิตที่ดี หรือ จีเอ็มพี 5.การเฝ้าระวังหลังจำหน่าย และ 6.การประเมินทางคลินิก ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกครบถ้วนทั้ง 6 ระบบ

กองชีววัตถุ มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนิน การควบคุม กำกับวัคซีนและชีววัตถุตามข้อตกลงขององค์การอนามัยโลก ดังนี้

1.ทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการในการควบคุมคุณภาพชีววัตถุ (National Control Laboratory) คือ ตรวจรับรองคุณภาพชีว วัตถุเพื่อใช้พิจารณาประกอบการขึ้นทะเบียนตำรับหรือการประมูล ตรวจยืนยันคุณภาพชีววัตถุที่เกิดปัญหาในการใช้ ตรวจสอบคุณภาพชีว วัตถุที่มีปัญหาในลูกโซ่ความ เย็นของการขนส่งและการเก็บรักษา สนับสนุนการตรวจประเมิน โรงงานผลิตวัคซีนให้สอดคล้องกับมาตรฐานจีเอ็มพี

2.พิจารณารับรองคุณภาพชีววัตถุและอนุมัติรุ่นการผลิตหลังได้รับทะเบียนและก่อนอนุญาตให้จำหน่าย

“วัคซีนหวัด 2009” ที่ได้วิจัยและพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแล้ว ก่อนที่จะนำไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะต้องส่งตัวอย่างมาให้กองชีววัตถุตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการก่อนเหมือน ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอื่น ๆ เช่น การตรวจสอบเอกลักษณ์ การตรวจสอบความแรง การตรวจสอบความปราศจากเชื้อ การตรวจสอบความเป็นพิษ การตรวจสอบความคงตัว การตรวจสอบทางเคมี-ฟิสิกส์ เป็นต้น

การควบคุมคุณภาพดังกล่าว ก็เพื่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปใช้กับประชาชน เป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากตรวจสอบแล้วไม่ได้มาตรฐาน คงไม่มีใครกล้าปล่อยให้ผ่านไปอย่าง แน่นอน.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน

ที่มา: http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=518&contentId=10209

"วิทยา" ปัดไทยแพร่ระบาดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ติดอันดับ 4 ของโลก

นครศรีธรรมราช - รมว.สาธารณสุขแจกคู่มือป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่นครศรีธรรมราช ลั่น 30 ก.ค.นี้ส่ง อสม.ทั่วประเทศเกือบแสนคนร่วมคัดกรองผู้ป่วย ระบุยังควบคุมสถานการณ์ได้ ปัดข่าวการแพร่ระบาดในไทยไต่ขึ้นอันดับ 4 ของโลก แต่หากรุนแรงพร้อมประกาศเป็นวาระแห่งชาติ

วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ห้างสหไทยสรรพสินค้านครศรีธรรมราช นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมชี้แจงพนักงานของห้างสหไทยสรรพสินค้าที่มาประชุมเพื่อรับรับทราบวิธีป้องกันโรคหวัด 2009 กว่า 500 คน

หลังจากนั้นนายวิทยา ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ตอนนี้สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งดำเนินการก็คือการรณรงค์ป้องกัน ภาคประชาชน โดยวันที่ 30 ก.ค.นี้จะกระจาย อสม. จำนวน 987,000 คนทั่วประเทศ ทุกหมู่บ้านออกรณรงค์ประชาชนในแต่ละหมู่บ้านและร่วมคัดกรองผู้ป่วยในแต่ละ หมู่บ้านในการป้องกันตัวจากโรคหวัด 2009

สิ่งที่ตนต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ก็คือ การเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลโดยวันนี้ได้มีการแบ่งให้รัฐมนตรีช่วยออกไป ตรวจความพร้อมของแต่ละโรงพยาบาลทั่วประเทศในการทำทางด่วนพิเศษในการแยกผู้ ป่วยไข้หวัดออกจากผู้ป่วยทั่วไปและให้ผู้ป่วยที่เป็นหวัดได้รับการรักษาเร็ว ที่สุดรวมถึงให้ได้รับยาโอซาทิเวียร์ให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเสียชีวิต

ส่วนกรณีที่มียอดของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นนั้น นายวิทยากล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่มียอดเพิ่มแต่ทุกประเทศทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น เหมือนกันหมด เพราะทุกคนไม่มีภูมิป้องกัน และหากยังมีการฝืนข้อแนะนำไม่สนใจในการข้อแนะนำก็มีสิทธิ์ที่จะป่วยได้ ตนอยากจะเรียกร้องให้คนไทยได้มีความรับผิดชอบร่วมกัน คนที่ป่วยก็อยู่กับบ้านหากออกข้างนอกก็สวมหน้ากากอนามัยอย่าฝืนคำแนะนำต้อง มีความรับผิดชอบร่วมกันและมนุษย์จะลดการป่วยลงไปได้ก็ต่อเมื่อมีวัคซีนพอ สำหรับทุกคน

สำหรับวัคซีนที่ประเทศไทยเราได้สั่งซื้อนั้นเราเป็นประเทศต้นๆ ที่จะได้รับวัคซีนชนิดนี้ประมาณต้นเดือนธันวาคม ส่วนวัคซีนที่ผลิตในประเทศก็จะเริ่มผลิตและใช้ได้ประมาณ ธ.ค.-ม.ค.นี้ซึ่งจะลดการสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ โดยวัคซีนที่เราสามารถผลิตได้นั้นจะประมาณ 2-3 ล้านโดส

สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค ไข้หวัดใหม่อยู่ในอันดับ 4 ของโลกนั้น น่าจะเป็นเรื่องของการพูดกันไปมากกว่า เพราะองค์การอนามัยโลกไม่ได้มีการรายงานลำดับหรือยอดผู้ป่วย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้รายงานว่าไทยอยู่ในอันดับ 7 และหลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการรายงานอีกเลยปิดเรื่องของตัวเลขไปเลยทั่วโลกและ มีการคาดการณ์ว่าในเดือน ธ.ค.การระบาดทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมก็ต้องเฝ้าระวัง

ส่วนสถานการณ์ไข้หวัด 2009 นั้นขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังสามารถควบคุมได้ แต่ถ้าหากสถานการณ์ยังรุนแรงหรือเพิ่มมากขึ้นก็จะเตรียมประกาศให้ไข้หวัด 2009 เป็นวาระแห่งชาติต่อไป

หลังจากนั้นคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ได้เดินทางไปตรวจจุดทางพิเศษที่โรงพยาบาลพรหมคีรี อ.พรหมคีรี นครศรีธรรมราช

ที่มา: http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000084280