ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เขตพื้นที่การศึกษาพิจิตรเลิกสั่งปิดโรงเรียนหนีไข้หวัดใหญ่ 2009 ชี้ ไร้ผล รับขณะนี้ 50 นักเรียนใน 27 โรงติดเชื้อ

พิจิตร – เขตพื้นที่การศึกษาพิจิตรเขต 1 ยันไม่ใช้นโยบายปิดโรงเรียน หากพบนักเรียนติดหวัด 2009 ชี้ ไร้ผล แถมเด็กได้รับผลกระทบเรื่องการเรียนการสอนอีก รับขณะนี้มีนักเรียน 27 โรงเรียน รวมกว่า 50 คนติดเชื้อ แต่ใช้วิธีให้เด็กป่วยหยุดเรียนแทน ขณะที่สถานการณ์โดยรวมหวัด 09 เมืองชาละวัน มีผู้ป่วยสะสม 247 ราย อาการหนัก 52 ราย

รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของ จ.พิจิตร หลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย คือ นายพงษ์ศักดิ์ แพรขาว อายุ 45 ปี เป็นชาว อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ซึ่งติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 กันทั้งครอบครัว แต่คนอื่นๆ สามารถกินยาจนอาการดีขึ้น แต่ นายพงษ์ศักดิ์ เป็นโรคอ้วน-เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง น้ำหนักตัว 120 กก.จึงทำให้ไปเสียชีวิตภายหลังญาตินำตัวไปรักษาที่ รพ.ในเขต จ.นครสวรรค์ ดังกล่าว ทำให้ นายประจักษ์ วัฒนกูล นพ.สาธารณสุข จ.พิจิตร ต้องเร่งออกรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ป้องกันโรคกันมากขึ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยล่าสุดวันนี้ ยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย ทำให้มีผู้ป่วยขณะนี้ 108 ราย และมียอดผู้ป่วยสะสม 247ราย ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีมากถึง 52 ราย กระจายอยู่ใน รพ.พิจิตร และ รพ.ประจำอำเภอต่างๆ 8 แห่ง

นอกจากนี้ นายสุรเสน ทั่งทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจิตร เขต 1 และนายพงษ์ชัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพิจิตร เขต 2 ได้รายงานว่า ทั้ง 2 เขตพื้นที่การศึกษามีนักเรียนใน 27 โรงเรียน จำนวนเกือบ 50 คน ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งมีทั้งที่รักษาหายแล้ว และนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ทั้งยังพบว่ามีผู้ปกครองก็ติดเชื้อจากบุตรหลานของตนเองอีกด้วย

แต่แม้ว่าตามโรงเรียนต่างๆ จะพบเด็กนักเรียนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ก็ไม่มีการปิดโรงเรียนในขณะนี้ เนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีการปิดการเรียนการสอน แต่ปรากฏว่า เด็กที่หยุดเรียน เมื่อกลับมาก็ยังนำเชื้อเข้ามาสู่โรงเรียนอีก ดังนั้น จึงถือว่ามาตรการปิดโรงเรียนไม่ได้ผล จึงต้องเปิดทำการเรียนการสอน เนื่องจากเกรงว่าถ้าปิดบ่อยๆ และระยะเวลายาวนานเด็กอาจจะเรียนไม่ทัน

อย่าง ไรก็ตาม ทางโรงเรียนต่างๆ ได้เพิ่มมาตรการในการคัดกรองตรวจวัดไข้ของนักเรียนกันเกือบจะทุกชั่วโมง ถ้าพบเด็กนักเรียนมีไข้ก็อนุญาตให้ลาป่วย พักการเรียนได้ เป็นมาตรการอีกรูปแบบหนึ่งที่นำมาใช้ในขณะนี้

ที่มา: http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000085877

"หมอทวี" แนะนำควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ธรรมดา แม้จะมีโรคประจำตัวก็ตาม

“หมอทวี” ชี้ คนมีโรคประจำตัวควรฉีดวัคซีน แม้พบหญิงแพร่ตายหลังได้วัคซีนหวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยันวัคซีนปลอดภัยสูง สธ.ส่งทีมสอบสวนโรคหาสาเหตุการตายที่แท้จริง เผย นักวิชาการเห็นต่างให้คลินิกจ่ายยา เพราะคิดเห็นได้อิสระ ชี้คลินิกมีสิทธิ์จ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ต้องได้ใบรับรองรักษาโรคหวัด 2009 จาก สธ.เผยรอบสัปดาห์คาดเหยื่อหวัด 2009 ตายเพิ่ม 21 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยังไม่ถึงหมื่น

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีหญิงสูงอายุชาวแพร่ เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้น ได้รับรายงานว่า หญิงรายดังกล่าวมีโรคประจำตัวหลายโรค และเป็นอัมพาต รวมถึงโรคชัก ซึ่งการมีโรคประจำตัวไม่ใช่ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน แต่เป็นข้อแนะนำว่าคนมีโรคประจำตัวควรได้รับวัคซีน เพราะถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะหากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้วจะเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งในแต่ละปีมีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวน 300-400 ล้านโดส ถือเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูงมาก ในสหรัฐอเมริกามีการฉีดอย่างทั่วถึง และนำไปฉีดในสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามบิน แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยของวัคซีนที่มีสูงมาก และที่ผ่านมา พบโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากวัคซีนน้อยมาก

“สธ.ได้ส่งทีมสอบสวนโรคไปตรวจสอบแล้วว่าสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด คืออะไร เพราะทราบว่า ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหลายโรคมาก แต่ไม่ได้ทิ้งสาเหตุการตายจากวัคซีน เพราะไม่มีอะไร 100% อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันความ เสี่ยงจากไข้หวัดใหญ่” รศ.นพ.ทวี กล่าว

รศ.นพ.ทวี กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ ยังไม่มีมติให้มีการกระจายยาในระดับคลินิก ไม่ได้หมายความว่า ในเชิงปฏิบัติไม่สามารถทำอะไรได้เลยโดยเฉพาะโครงการที่นำร่องไปแล้ว ก็สามารถดำเนินต่อไปได้ และสามารถมีการเปลี่ยนแปลง หรือขยายโครงการได้ในอนาคต ส่วนความคิดเห็นของนักวิชาการที่มีความแตกต่างกันนั้น ถือว่าเป็นการแสดงความคิดที่อิสระ ซึ่งจะมีการชั่งผลดีผลเสียว่าอะไรมากกว่ากัน อาจไม่ต้องดี 100% แต่มีผลดีมากกว่าผลเสียก็คงต้องดำเนินการ ขณะเดียวกัน ถ้ามีผลเสียมากกว่าก็ต้องเลิกเช่นเดียวกัน ซึ่งคณะอนุกรรมการจะมีการประชุมหารืออีกครั้งในวันที่ 3 ส.ค.นี้

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวทางหลักในการพิจารณาคลินิกที่จะสามารถจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ให้กับผู้ ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009ได้นั้น แพทย์ที่ประจำคลินิกจะต้องเข้ารับการอบรมเรื่องแนวทางการรักษาจาก สธ.โดยเฉพาะแพทย์ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในระบบราชการ ที่สำคัญ ผ่านหลังการอบรม แพทย์จะต้องได้รับใบรับรองจาก สธ.ให้เป็นแพทย์ที่สามารถประเมินอาการ วินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และสั่งจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ได้เท่านั้น และคลินิกแต่ละแห่งจะต้องมียาสำรองได้ไม่เกิน 50 เม็ด

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในการแถลงข่าวสรุปสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รอบสัปดาห์ของ สธ.ในวันที่ 29 ก.ค. คาดว่า จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 21 ราย เฉลี่ยวันละ 3 ราย ยอดสะสมรวม 65 ราย ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มกว่า 2 พันราย ยอดผู้ป่วยสะสมกว่า 8,000 ราย

ที่มา: http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000085468

ผลวิจัยชี้สตรีมีครรภ์เสี่ยงติดไข้หวัด 2009 สูงกว่าคนทั่วไป 4 เท่า

คมชัดลึก :ผลศึกษาในสหรัฐฯ ระบุ สตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงจากหวัดใหญ่ 2009 มากกว่าผู้ติดเชื้อทั่วไปถึง 4 เท่า

วันนี้ (29ก.ค.) ผลศึกษาที่จัดทำโดยคณะเจ้าหน้าที่ภายใต้การนำของเดนิส จามีสัน แห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร และจะตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์"แลนเซ็ท" ฉบับวันที่ 8 สิงหาคมระบุว่า สตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ติดเชื้อทั่วไปมากถึง 4 เท่า ที่จะป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

สตรีมีครรภ์ยังมีความเสี่ยงสูงเช่นกันที่จะเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือแม้แต่จากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ก็มีสตรีมีครรภ์ในสหรัฐฯเพียงร้อยละ 15 ที่ทำตามคำแนะนำตั้งแต่ปี 2547 ของ CDC เรื่องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะกลัวเกิดผลข้างเคียงกับบุตรในครรภ์

การเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์โดย CDC แสดงว่าในระหว่างกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม อันเป็นเดือนแรกของการระบาด นับจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ประกาศให้โรคนี้เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก มีสตรีมีครรภ์ในสหรัฐฯที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัส เอ (เอชวัน เอ็นวัน) รวม 34 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มี 11 คน หรือ 1 ใน 3 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่อัตราส่วนของคนทั่วไปที่ติดเชื้อจนต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่ที่ร้อยละ 8 หรือ คิดเป็น 1 ใน 4 ของอัตราส่วนในสตรีมีครรภ์

ในช่วงเดือนแรกมีสตรีมีครรภ์ในสหรัฐฯเสียชีวิตจากโรคนี้ 1 คน แต่ในเดือนถัดมา เสียชีวิตเพิ่ม 5 คน ทุกคนมีอาการของนิวมอเนีย กับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (acute respiratory distress syndrome ) จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งหมดไปพบแพทย์ภายใน 1-6 วันหลังมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และได้รับยาต้านไวรัสซึ่งที่ผ่านมาใช้ได้ผลในการต้านไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ทั้งหมดไม่ได้รับยานี้จนอย่างน้อยวันที่ 6 ที่ป่วย

จามีสันกล่าวว่า สาเหตุที่สตรีมีครรภ์มีความเสี่ยงจากโรคสูงมากขึ้น น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในระบบต่างๆของร่างกายช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งรวมทั้งกลไกและฮอร์โมน, ระบบทางเดินหายใจ,หัวใจกับหลอดเลือดหัวใจ กับระบบภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกัน ขีดความสามารถของปอดยิ่งลดลงเมื่อตัวอ่อนเติบโตมากขึ้น มีพื้นที่ในปอดน้อยลงทำให้สตรีมีครรภ์อ่อนแอมากขึ้น จึงได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นจากโรคที่เกิดจากไวรัส รวมทั้ง ไข้หวัดใหญ่

จามีสันกล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จึงยังไม่อาจแนะนำให้สตรีมีครรภ์ฉีดวัคซีนดังกล่าว แต่ขอเสนอแนะให้สตรีมีครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

ทารก 5 คนจากสตรีมีครรภ์ 6 คนที่เสียชีวิตเกิดจากการผ่าท้องทำคลอด ไม่มีเด็กคนไหนที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเกือบทั้งหมดได้ออกจากโรงพยาบาลไปแล้วอย่างมีสุขภาพดี ยกเว้นเพียงคนเดียว ที่ผ่าท้องคลอดก่อนกำหนด 13 สัปดาห์ จึงยังอยู่ในโรงพยาบาลแต่ก็มีอาการดีส่วนสตรีคนที่หกตั้งครรภ์ได้เพียง 11 สัปดาห์ และเด็กในครรภ์เสียชีวิตพร้อมมารดา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/detail/20090729/22269/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%9409%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A14%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2.html

ครม.ทุ่มงบ 450 ล้านบาท สกัดไข้หวัด 2009 ลามทั่วประเทศ

ครม.ทุ่มงบอีก 450 ล้านบาท สกัดหวัด 2009 คาดมีคนไทยติดเชื้อ 5 แสนคน สั่งยาชนิดใหม่สำรองเพิ่ม 20,000 ชุด กรณีเกิดการดื้อยา เผยเหตุเสียชีวิตส่วนใหญ่ เพราะได้รับยาช้าเกินไป...

วันนี้(28 ก.ค.) นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 วงเงิน 450 ล้านบาท จากที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอขอมา 756 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในภารกิจ 4 ด้าน คือ
1.การสนับสนุนการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมสถานการณ์โรคไข้หวัดสายพันธุ์ ใหม่ 2009

2.การจัดซื้อยาซานามิเวียร์ 2 หมื่นชุด วงเงิน 9 ล้านบาท เพื่อเป็นยาต้านไวรัสสำรอง กรณีเกิดการดื้อยาของยาโอเซลทามิเวียร์

3.การใช้งบเพื่อประชาสัมพันธ์โรคหวัด 2009

4.การจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจเพิ่มเติมในผู้ใหญ่ 180 เครื่อง และเด็ก 30 เครื่อง เพื่อใช้ในการรักษาโรคหวัด 2009 วงเงิน 180 ล้านบาท


รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในที่ประชุม ครม.ไม่ได้มีการแจ้งจำนวนยอดผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อหวัด 2009 ที่กระทรววงสาธารณสุขจะแถลงรายละเอียดในวันที่ 29 ก.ค. แต่มีการประมาณการยอดผู้ติดเชื้อในเมืองไทยน่าจะมีประมาณ 5 แสนคน โดยเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีการยืนยันแน่นอน 8,000 คน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ว่า ผู้เสียชีวิตในไทยส่วนใหญ่ 80-90 % มีสาเหตุมาจากได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ช้าเกินไป โดยส่วนใหญ่ได้รับยาต้านเชื้อภายหลังป่วยไปแล้ว 6-7 วัน ดังนั้นเพื่อลดการเสียชีวิต จึงจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสเร็วขึ้น ซึ่งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข โรคไข้หวัด 2009 มีแนวทางยินยอมให้มีการกระจายยาไปยังคลินิกต่างๆ13,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วขึ้น ภายใต้เงื่อนไข 8 ข้ออาทิต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น และคลินิกที่จะสั่งจ่ายยาดังกล่าวได้ต้องมีการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข.

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/22663