ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ยอดเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่2009 รวม 97 ราย สธ.เผยการระบาดมีแนวโน้มชะลอตัว

ยอดรวม97 ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เร่งเดินหน้า 4 มาตรการหลัก จัดทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษา 24 ชั่วโมง คาดจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า

วันนี้ (11 ส.ค.) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ศุภมิตร ชุณหสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และนายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าว ความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า

จากการวิเคราะห์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของไทย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าการระบาดมีแนวโน้มชะลอตัวลงในเขตกทม. และปริมณฑล ส่วนในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยกลุ่มอายุ 6-20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนแนวโน้มติดเชื้อชะลอตัวลง บ่งชี้ว่ามาตรการคัดกรองเด็กนักเรียนป่วยในโรงเรียนหลายๆ แห่ง เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม และต้องเร่งดำเนินการต่อไป ขณะที่กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มรับจ้างทั่วไปยังมีแนวโน้มติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องขยายการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะการให้ผู้ที่ป่วยหยุดพักอยู่กับบ้านอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ เริ่มมีสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น โดยในกลุ่มประชาชนทั่วไป เริ่มมีพฤติกรรมในการป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการให้หยุดพักงานอยู่กับบ้าน 7 วัน หลายหน่วยงานจัดระบบติดตามให้มีการพักอย่างจริงจัง รวมทั้งจัดระบบควบคุมป้องกันโรค ส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคให้กับบุคลากรของหน่วยงาน ส่วนในระดับชุมชน เริ่มมีโครงการความร่วมมือของภาคประชาชนในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ฯ เช่น โครงการชุมชนปลอดภัยร่วมใจควบคุมไข้หวัดใหญ่ให้อยู่มือ ของ 9 ชุมชน ในแขวงทุ่งพญาไท กทม. ซึ่งอนุกรรมการชุมชนร่วมกับภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกันดำเนินการ ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างได้ผล

สำหรับ มาตรการกระจายยาต้านไวรัสลงสู่คลินิกเอกชน สัปดาห์นี้มีคลินิกเข้าร่วมโครงการเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งรัดให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง 18 เขต ทำความเข้าใจมาตรการการจ่ายยาต้านไวรัสกับแพทย์เจ้าของคลินิก เพื่อให้เข้าร่วมมือกับโครงการมากขึ้น โดยจะมีการสรุปและติดตามผลในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ อย่างไรก็ตาม คลินิกบางส่วนได้แสดงความจำนงเป็นเครือข่ายในการคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ฯ และส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ขอความร่วมมือเครือข่ายด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น สปสช. สสส. สช. ซึ่งมีสมัชชาสุขภาพเป็นสมาชิกจำนวนมากและทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันกระจายข้อมูลความรู้โรคไข้หวัดใหญ่ไปสู่ประชาชนให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้น

ในส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1-8 สิงหาคม 2552 ได้รับรายงาน 16 ราย ในจำนวนนี้ 11 ราย เป็นผู้มีโรคประจำตัว ค่าเฉลี่ยวันที่เริ่มป่วยจนถึงได้รับยาต้านไวรัสสั้นลงจาก 7 วัน เหลือ 5-6 วัน โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 50 เริ่มป่วยก่อนที่จะมีนโยบายกระจายยาต้านไวรัสไปสู่คลินิกเอกชน ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรัดเพื่อลดการเสียชีวิต คือ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ มาตรการกระจายยาต้านไวรัส การกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะไปพบแพทย์เมื่ออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน การส่งเสริมให้แพทย์ยึดแนวทางการรักษาตามคู่มือที่คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กำหนด และจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ภายใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/25674

อินเดียสั่งปิดร.ร.ทุกแห่งในมุมไบหลังพบไข้หวัดมรณะระบาดหนัก-WHOย้ำให้ใช้ทามิฟลูรักษา

เอเอฟพี/เอเจนซี - ทางการอินเดียเมื่อวันพุธ(12) มีคำสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่งในมุมไบเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ท่ามกลางความหวั่นกลัวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสเอช1เอ็น1 ขณะที่ WHO แนะย้ำให้ใช้ยาต้านไวรัสทามิฟลูกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 ที่มีอาการหนัก แม้จะมีผลการศึกษาเตือนเรื่องการใช้ยาทามิฟลูในเด็กก็ตาม

รัฐบาลแห่งรัฐมหาราษฏระ กลายเป็นรัฐที่มีอัตราการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่รุนแรงที่สุด ในอินเดีย และมีผู้หญิงสองราย อายุ 63 และ 53 ปี เสียชีวิตในมุมไบหลังได้พบว่าติดเชื้อไวรัสเอช1เอ็น1 "รัฐบาลตัดสินใจปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัยและการฝึกสอนต่างๆตลอดทั้งเมืองเป็นเวลา 1 สัปดาห์เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดี(13)"

โฆษกของคณะรัฐมนตรีแห่งรัฐบอกต่อว่า "เราพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในรัฐแห่งนี้ เราจำเป็นต้องใส่ใจ ด้วยเหตุนี้จึงต้องออกมาตรการป้องกันไว้ก่อน" เขากล่าว พร้อมระบุว่าโรงละครและโรงภาพยนตร์ทุกแห่งก็จะปิดบริการเป็นเวลา 3 วันเช่นกัน

มุมไม บ้านของอุตสาหกรรมภาพยนตร์บอลลีวูด เป็นเมืองที่คับคั่งไปด้วยอุตหกรรมต่างๆและเป็นศูนย์กลางทางการเงินของ อินเดีย และมีพลเรือนอาศัยอยู่ประมาณ 18 ล้านคน ขณะเดียวกันเมืองแห่งนี้ก็เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราว 1,100 แห่งและวิทยาลัยอีก 350 แห่ง รวมไปถึงสถาบันการศึกษาเอกชนอีกจำนวนมาก

ความกังวลของสาธารณชนอินเดียต่อการแพร่ระบาดของไวรัสเอช1เอ็น1 เพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่พบผู้เสียชีวิตจากเชื้อหวัดมรณะนี้รายแรกของประเทศเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม

สื่อมวลชนแห่งหนึ่งของอินเดียรายงานว่า จนถึงวันพุธ(12) มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แล้วมากกว่า 1,000 คน ในจำนวนนั้นเสียชีวิต 15 ราย แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 9 ราย

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในอินเดียเป็นกลุ่มบุคคลที่เดินทางกลับมาจากต่าง แดน ดังนั้นผู้คนหลายแสนคนที่เดินทางมาจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสสาย พันธุ์ใหม่ จะถูกตรวจวัดอุณหภูมิหาผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ ณ สนามบินนานาชาติทุกแห่งของอินเดีย

ขณะเดียวกันทางการอินเดียยังได้จัดตั้งสายด่วน 24 ชั่วโมงและเว็บไซต์คอยให้คำปรึกษา รวมถึงจัดตั้งโรงพยาบาลสาธารณะขึ้นมาสำหรับรับผิดชอบตรวจและกักตัวผู้ต้อง สงสัยโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังส่งยาต่อต้านไวรัสทามิฟลูกว่า 100,000 โดสไปให้แก่เมืองต่างๆที่ได้รับผลกระทบ

ด้านสถานีเคเบิลทีวีซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในอินเดีย ก็ต่างอุทิศเวลาหลายชั่วโมงสำหรับออกอากาศนำเสนอข่าวเกี่ยวกับไวรัส โดยบ่อยครั้งที่เห็นผู้สื่อข่าวสวมหน้ากากและยืนอยู่ด้านหน้าประชาชนที่ต่อ แถวกันยาวเหยียดด้านนอกโรงพยาบาลเพื่อรอตรวจอาการไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่

องค์การอนามัยโลกแถลงเมื่อวันอังคาร(11) ว่ายอดผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทั่วโลกได้เพิ่มเป็น 1,462 รายแล้ว นับตั้งแต่ไวรัสตัวนี้ปรากฏตัวในเม็กซิโกและสหรัฐฯในเดือนเมษายน

ด้วยจากการที่โรงพยาบาลส่วนมากเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ทำให้ครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตรายแรกในอินเดีย -- เด็กหญิงวัย 14 ปี -- กล่าวหาแพทย์ว่าขาดความเอาใจใส่และเรียกร้องเงินชดเชย 50 ล้านรูปี(ราว 1 ล้านดอลลาร์) ในข้อหาให้การรักษาเธออย่างล่าช้าและผิดพลาด

ทั้งนี้ในวันพุธ(12) องค์การอนามัยโลก ย้ำข้อแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัสทามิฟลูกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่มีอาการหนัก แม้จะมีผลการศึกษาเตือนเรื่องการใช้ยาทามิฟลูในเด็ก

องค์การอนามัยโลก แถลงว่า ยังคงแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัสทามิฟลูในการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่ที่มีอาการหนัก หรือผู้ป่วยที่เสี่ยงจะเกิดอาการแทรกซ้อน อย่างไรก็ดี ย้ำว่าไม่ควรใช้ยาทามิฟลูกับผู้ที่แสดงอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการไม่ รุนแรง

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์บริติช เมดิคัล เจอร์นัล เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ระบุว่า ไม่ควรให้ยาทามิฟลูกับเด็กที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพราะอาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายมากกว่าผลดี อย่างไรก็ดี การศึกษาไม่ได้ครอบคลุมไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดใน ปัจจุบัน แต่แนะว่า ยาต้านไวรัสอาจไม่ช่วยย่นเวลาของการป่วย หรือป้องกันอาการแทรกซ้อนในเด็กที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1

ที่มา: http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9520000091797