ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กระทรวงสาธารณสุขเตรียมทดลองวัคซีนต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่2009 ถ้าไม่เวิร์คไม่นำมาใช้แน่นอน

สธ.เตรียมทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ส.ค.นี้ ถ้าไม่เวิร์คจะไม่นำมาใช้แน่นอน สั่ง อภ.ผลิตยาโอเซลทามิเวียร์เพิ่ม10ล้านเม็ด เพื่อสำรองยาต้านไวรัส รับมือการระบาดใหญ่ระลอก2เดือนต.ค.นี้ ...

วันนี้ (19ก.ค.) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมติดตามมาตรการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอเอช1 เอ็น 1 ที่กระทรวงสาธารณสุขว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้ติดตามมาตรการความคืบหน้าการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่2009 ใน 4 ประเด็นหลักคือ วัคซีน ประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ในรายที่มีอาการรุนแรง และในรายที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง เพื่อให้ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลแล็ป การจัดทำคู่มือประชาชนในการป้องกันโรค รวมทั้งการติดตามข้อเสนอแนะต่างๆที่ประชาชนและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เสนอ แนะ หรือให้คำแนะนำต่อกระทรวงสาธารณสุข

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ไปให้โรงพยาบาลต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนทุกจังหวัด ลงไปถึงระดับโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งอย่างเพียงพอ โดยเตรียมยาสำรองในระบบ14 ล้านเม็ด โดยหลังจากปรับมาตรการการรักษาแล้ว ได้ให้องค์การเภสัชกรรมสั่งวัตถุดิบเพื่อผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ หรือชื่อการค้าว่า จีพีโอ เอฟูลเพิ่มอีก 10 ล้านเม็ดในสัปดาห์หน้า รวมแล้วมียาสำรองในระบบทั้งสิ้น 24 ล้านเม็ด คาดว่าวัตถุดิบจะมาถึงไทยวันพุธที่ 22 ก.ค.นี้ และใช้เวลาบรรจุ 3-5 วัน ก็จะจัดส่งไปยังสถานพยาบาลต่างๆได้ ยามีเพียงพอ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้

นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 ว่า การผลิตวัคซีนดังกล่าว เป็นการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนไทยและความมั่นคงของประเทศไทยในการ ป้องกันโรคติดต่อ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการดูแลประสิทธิภาพความปลอดภัยของ วัคซีนอย่างรัดกุมที่สุดตามหลักวิชาการและมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก มี 3 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการทดลองในคน คณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนวัคซีน และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตวัคซีน ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญองค์การเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าวัคซีนต้นแบบล็อตแรก จะออกมาช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2552 จากนั้นก็จะทดลองประสิทธิภาพในความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง และทดลองในคนต่อไปตามขั้นตอนของหลักสากล หากไม่ได้ผลหรือไม่มีความมั่นใจ จะไม่มีการนำมาใช้อย่างแน่นอน

ส่วนประเด็นที่พรรคฝ่ายค้าโจมตี การใช้เงิน 600 ล้านบาท ที่หลายฝ่ายเข้าใจว่าเป็นการลงทุนผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ ใหม่นั้น นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เงินดังกล่าว เป็นเงินที่สั่งจองซื้อวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯจำนวน 2 ล้านโดส ที่ผลิตในต่างประเทศ จากบริษัทซาโนฟี่ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก โดยวัคซีนดังกล่าวจะส่งถึงไทยในเดือนธันวาคม 2552 นี้

นพ.ไพ จิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีการวิจารณ์ว่าสธ.ปกปิดข้อมูล ว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข รายงานจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตตรงไปตรงมา ไม่เคยปกปิดข้อมูลใดๆทั้งสิ้น และยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกในฐานะประเทศสมาชิก ส่วนการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการนั้น ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจได้ทุกแห่งและเพียงพอแล้ว โดยในการตรวจนั้นจะใช้ประโยชน์ใน 2 เรื่องที่มีความสำคัญคือตรวจในรายผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเพื่อให้รู้แน่นอน เป็นประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล และตรวจเพื่อติดตามเฝ้าระวังและกำกับสถานการณ์การควบคุมป้องกันโรคใน พื้นที่

ขณะที่พ.ญ.ศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการชะลอการแพร่เชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่จะมีการเพิ่มความเข้มข้นขึ้น ได้มีหนังสือสั่งการกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดดำเนินการตรวจคัด กรองเด็กที่ป่วยในโรงเรียนทุกแห่งทั้งรัฐเอกชนและติดตามต่อเนื่องทุกวัน เป็นมาตรการเหมือนกันทั่วประเทศ หากพบเด็กป่วย ให้หยุดเรียนและอยู่ที่บ้านจริงๆ แทนการปิดโรงเรียน เพื่อให้ผู้ปกครองดูแล จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งวิธีนี้นับว่าดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด รวมทั้งกิจกรรมรณรงค์ทำความสะอาดโรงเรียน สถานบันเทิง โรงงาน การสำรวจความเพียงพอของอ่างล้างมือของโรงเรียน และให้ส่งรายงานผลการปฏิบัติให้ศูนย์อำนวยการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขทุกวัน

นอกจากนี้ พ.ญ.ศิริพร กล่าวด้วยว่า ได้แจกปรอทวัดไข้ให้ อสม.ทั่วประเทศ ทำการคัดกรองผู้ที่มีไข้ในหมู่บ้าน เพื่อส่งตัวเข้าดูแลต่อที่สถานพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วและถูกต้อง และมอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดพิมพ์คู่มือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฉบับประชาชน แบบพกพาได้ จำนวน 4 ล้านฉบับ โดยจะเริ่มจัดส่งไปกทม. ในวันจันทร์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศในวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2552 นี้ เพื่อให้อสม.นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป และอาจแจกที่ร้าน เซเว่น อีเลฟเว่น ด้วย วางที่ศาลากลางจังหวัด โรงพยาบาล สถานีอนามัยทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลตนเองมากยิ่งขึ้น

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/20601

สมุนไพรฟ้าทะลายโจรคือออะไร มีสรรพคุณและความสำคัญอย่างไร



ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees

ชื่อสามัญ : Kariyat , The Creat

วงศ์ : ACANTHACEAE

ชื่ออื่น : หญ้ากันงู (สงขลา) น้ำลายพังพอน ฟ้าละลายโจร (กรุงเทพฯ) ฟ้าสาง (พนัสนิคม) เขยตายยายคลุม สามสิบดี (ร้อยเอ็ด) เมฆทะลาย (ยะลา) ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 30-70 ซม. ทุกส่วนมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบ เดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดอกย่อย กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก 2 ปาก ปากบนมี 3 กลีบ มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่ ปากล่างมี 2 กลีบ ผล เป็นฝัก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ใบจะเก็บมาใช้เมื่อต้นมีอายุได้ 3-5 เดือน

สรรพคุณ
มี 4 ประการคือ

1. แก้ไข้ทั่ว ๆ ไป เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
2. ระงับอาการอักเสบ พวกไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ขับเสมหะ รักษาโรคผิวหนังฝี
3. แก้ติดเชื้อ พวกทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย บิด และแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ
4. เป็นยาขมเจริญอาหาร

และการที่ฟ้าทะลายโจรมีสรรพคุณ 4 ประการนี้ จึงชวนให้เห็นว่าตัวยาต้นนี้ เป็นยาที่สามารถนำไปใช้กว้างขวางมาก จากเหตุผลที่ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ระงับการติดเชื้อหรือระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ใบฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone คือ

1. สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide)
2. สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide)
3. 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide)

ฟ้าทะลายโจรเป็นยาเก่าแก่ของประเทศจีน ที่ใช้ในการแก้ฝี แก้อักเสบ และรักษาโรคบิด การวิจัยด้านเภสัชวิทยาพบว่า ฟ้าทะลายโจรสามารถยับยั้ง เชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเป็นหนองได้ และมีการศึกษาวิจัยของโรงพยาบาลบำราศนราดูร ถึงฤทธิ์ในการรักษาโรคอุจจาระร่วงและบิด แบคทีเรีย เปรียบเทียบกับ เตตราซัยคลิน ในผู้ป่วย 200 ราย อายุระหว่าง 16-55 ปี ได้มีการเปรียบเทียบระยะเวลาที่ถ่ายอุจจาระเหลว จำนวนอุจจาระเหลว น้ำเกลือที่ให้ทดแทนระหว่างฟ้าทะลายโจรกับเตตราซันคลิน พบว่าสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ลดจำนวนอุจจาระร่วงและจำนวนน้ำเกลือที่ให้ทดแทนอย่างน่าพอใจ แม้ว่าจากการทดสอบทางสถิติ จะไม่มีความแตกต่างโดยในสำคัญก็ตาม ส่วนการลดเชื้ออหิวาตกโรคในอุจจาระ ฟ้าทะลายโจรไม่ได้ผลดีเท่าเตตราซัยคลิน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลชุมชนบางแห่งได้ใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาอาการเจ็บคอได้ผลดีอีกด้วย มีฤทธิ์เช่นเดียวกับเพ็นนิซิลินเมื่อเทียบกับยาแผนปัจจุบัน เท่ากับเป็นการช่วยให้มีผู้สนใจทดลองใช้ยานี้รักษาโรคต่าง ๆ มากขึ้น

วิธีและปริมาณที่ใช้

1. ถ้าใช้แก้ไข้เป็นหวัด ปวดหัวตัวร้อน

ใช้ใบและกิ่ง 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม สดหนัก 25 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลามีอาการ

2. ถ้าใช้แก้ท้องเสีย ท้องเดิน เป็นบิดมีไข้

ใช้ทั้งต้นหรือส่วนทั้ง 5 ของฟ้าทะลายโจร ผึ่งลมให้แห้ง หั่นชิ้นเล็ก ๆ ประมาณ 1 กำมือ (หนักประมาณ 3-9 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มตลอดวัน

ตำรับยาและวิธีใช้

1. ยาชง มีวิธีทำดังนี้

- เอาใบสดหรือแห้งก็ได้ ประมาณ 5-7 ใบ แต่ใบสดจะดีกว่า

- เติมน้ำเดือดลงจนเกือบเต็มแก้ว

- ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง หรือพอยาอุ่น แล้วรินเอามาดื่ม ขนาดรับประทาน

ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร, ก่อนนอน

2. ยาเม็ด (ลูกกลอน) มีวิธีทำดังนี้

- เด็ดใบสดมาล้างให้สะอาดผึ่งในที่ร่ม ห้ามตากแดด ควรผึ่งในที่มีลมโกรก ใบจะได้

แห้งเร็ว

- บดเป็นผงให้ละเอียด

- ปั้นกับน้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม เป็นเม็ดขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง (หนัก 250 มิลลิกรัม)

แล้วผึ่งลมให้แห้ง เพราะถ้าปั้นรับประทานขณะที่ยังเปียกอยู่จะขมมาก ขนาดรับประทานครั้งละ 4-10 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร, ก่อนนอน

3. แค๊ปซูล มีวิธีทำคือ

แทนที่ผงยาที่ได้จะปั้นเป็นยาเม็ด กลับเอามาใส่ในแค๊ปซูล เพื่อช่วยกลบรสขมของยา แค๊ปซูล ที่ใช้ ขนาดเบอร์ 2 (ผงยา 250 มิลลิกรัม) ขนาดรับประทานครั้งละ 3-5 แค๊ปซูล วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร ก่อนนอน

4. ยาทิงเจอร์หรือยาดองเหล้า

เอาผงแห้งใส่ขวด แช่สุราที่แรง ๆ เช่น สุราโรง 40 ดีกรี ถ้ามี alcohol ที่รับประทานได้ (Ethyl alcohol) จะดีกว่าเหล้า แช่พอให้ท่วมยาขึ้นมาเล็กน้อย ปิดฝาให้แน่น เขย่าขวดวันละ 1 ครั้ง พอครบ 7 วัน จึงกรองเอาแต่น้ำ เก็บไว้ในขวดให้สะอาดปิดสนิท รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ (รสขมมาก) วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหาร

5. ยาผงใช้สูดดม

คือเอายาผงที่บดละเอียด มาใส่ขวดหรือกล่องยา ปิดฝาเขย่าแล้วเปิดฝาออก ผงยาจะเป็นควันลอยออกมา สูดดมควันนั้นเข้าไป ผงยาจะติดที่คอทำให้ยาไปออกฤทธิ์ที่คอโดยตรง ช่วยลดเสมหะ และแก้เจ็บคอได้ดี วิธีที่ดีกว่านี้คือวิธีเป่าคอ กวาดคอ หรือรับประทานยาชง ตรงที่คอจะรู้สึกขมน้อยมาก ไม่ทำให้ขยาดเวลาใช้ ใช้สะดวกและง่ายมาก ประโยชน์ที่น่าจะได้รับเพิ่มก็คือ ผงยาที่เข้าไปทางจมูก อาจจะช่วยลดน้ำมูก และช่วยฆ่าเชื้อที่จมูกด้วย

ขนาดที่ใช้

สูดดมบ่อย ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง ถ้ารู้สึกคลื่นไส้ให้หยุดยาไปสักพัก จนความรู้สึกนั้นหายไป จึงค่อยสูดใหม่

ข้อควรรู้เกี่ยวกับตำรับยา

สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) สารในต้นฟ้าทะลายโจร ละลายในแอลกอฮอร์ได้ดีมาก ละลายในน้ำได้น้อย ดังนั้นยาทิงเจอร์ หรือยาดองเหล้าฟ้าทะลายโจร จึงมีฤทธิ์แรงที่สุด ยาชงมีฤทธิ์แรงรองลงมา ยาเม็ดมีฤทธิ์อ่อนที่สุด

ข้อควรระวัง

บางคนรับประทาน ยาฟ้าทะลายโจร จะเกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ปวดเอว เวียนหัว แสดงว่าแพ้ยา ให้หยุดยา และเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น หรือลดขนาดรับประทานลง

ที่มา: http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_07_8.htm

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข "หมอไพจิตร์" ปรับแผนรักษาไข้หวัด2009 ให้ยาต้านไวรัสทันที

"หมอไพจิตร์" ปรับแผนรักษาผู้ป่วยหวัด 2009ให้ยาต้านไวรัสในรายที่อาการรายรุนแรงทันที โดยไม่สนผลแล็ป ขณะที่ "วิทยา" หาก พท.ดึงผู้เชี่ยวชาญจาก สธ.มาแชร์ความรู้กัน ...



วันนี้ (18ก.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย ต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ได้แก่ผู้ที่มีไข้ ร่วมกับไอ เจ็บคอหรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วยเช่นคัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดเมื่อย อาเจียน ท้องเสีย เพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้จัดส่งให้โรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน แล้ว รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ให้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งแนวทางนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์การอนามัยโลกที่ให้ประเทศสมาชิก ทั่วโลกใช้เช่นกัน

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการและการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ฯ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีและคณะ ได้จัดทำแนวทางในการดูแลผู้ป่วยดังกล่าว โดยจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1. คือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีอาการปอดอักเสบ ซึมผิดปกติ รับประทานอาหารไม่ได้หรือได้น้อยกว่าปกติ หรือมีปัญหาร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงของการป่วย ให้รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

นอกจากนี้ กลุ่มที่ 2. ได้แก่กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรงซึ่งมี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง เช่นโรคระบบทางเดินหายใจได้แก่โรคถุงลมปอดโป่งพอง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคธาลัสซีเมีย ที่ทำให้ภูมิต้านทานโรคในร่างกายต่ำ รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องกินยาแอสไพรินมาเป็นเวลานานเช่นผู้ป่วยโรคหัวใจเพื่อ ป้องกันเลือกแข็งตัว และผู้ที่มีอ้วนมาก ให้ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 48 ชั่วโมง และพิจารณาให้ยาโอเซลทามิเวียร์ ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงแรกหรืออาการไม่ดีขึ้นหลังจาก 48 ชั่วโมงไปแล้ว กลุ่มที่ 3. เป็นผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง แนะนำวิธีการดูแลที่บ้าน ให้ยารักษาตามอาการ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เองภายใน 3 -5 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นและมีอาการคือ หายใจเร็ว หายใจลำบาก ซึมผิดปกติ กินไม่ได้ หรืออาการไม่ดีขึ้นในวันที่ 3 ของการป่วย แนะนำให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์ทันที

"หลักเกณฑ์ในการให้ยาต้านไวรัส โอเซลทามิเวียร์ ในรายที่อายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จะให้ตามขนาดน้ำหนักตัว ขนาดตั้งแต่ 25 - 75 มิลลิกรัม กินวันละ 2 ครั้ง หากอายุต่ำกว่า 1 ปีจะให้ตามช่วงอายุ คือ ต่ำกว่า 3 เดือน , 3-5 เดือนและ 6-11 เดือน ให้กินขนาด 12 - 25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ในการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการจะเน้นเฉพาะในรายที่มีอาการ รุนแรงที่มีปัญหาปอดบวมหรือรายที่รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น" รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการดูแลรักษาต่อ ได้มีการจัดแบ่งโซนรับผิดชอบร่วมกับคณะผู้เชี่ยวชาญจากแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแพทย์ที่รักษา การจัดทีมลงพื้นที่ให้คำแนะนำในกรณีร้องขอ และการฟื้นฟูวิชาการรักษาผู้ป่วยแก่โรงพยาบาลต่างๆใน 75 จังหวัดดังนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูแล 9 จังหวัดภาคเหนือได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดูแล 6 จังหวัดได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดีดูแล 7 จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี กรมการแพทย์ดูแลจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ ศิริราชพยาบาลดูแลนครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูแล ปราจีนบุรี นครนายกและฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดูแล สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดูแล เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่นรวมกับกรมการแพทย์และวิทยาลัยแพทย์มงกุฎเกล้าดูแล ชัยภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ส่วนที่เหลือ 15 จังหวัดภาคใต้ตั้งแต่ ประจวบคีรีขันธ์ จนถึงนราธิวาส อยู่ในความดูแลของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎและกรมการแพทย์ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่พรรคเพื่อไทย จัดเวทีเสวนาระดมความคิด "ร่วมฝ่าวิกฤตไข้หวัด 2009" ว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ยินดีที่จะให้ข้าราชการ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสังกัดเข้าร่วมระดมความคิดเห็น รวมทั้งพร้อมยินดีรับฟังทุกความคิดเห็นที่เสนอมา ที่ไม่เป็นประเด็นทางการเมือง และกระทรวงสาธารณสุขยินดีปฏิบัติตาม โดยยึดประโยชน์ของประชาชนสูงสุด

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/20451