ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"โรคปอดบวม" โรคที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัด 2009 ได้ง่ายๆ

ตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วทุกมุมโลกในขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่ง ‘ภาษาหมอ’ วันนี้จึงขอหยิบยกโรคที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาเล่าสู่กันฟัง หนึ่งในนั้นคือ โรคปอดบวม
โรคปอดบวม หรือ Pneumonia เกิดจากภาวะการอักเสบของปอดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส (ส่วนใหญ่จะล่องลอยปะปนอยู่กับฝุ่นละอองในอากาศที่หายใจเข้าไป) หรือเชื้อแบคทีเรีย (ที่อยู่ในลำคอร่วงหล่นไปในถุงลมปอด ทำให้เกิดการอักเสบในเนื้อปอด) แต่ในสภาวะที่ผิดปกติอาจเกิดจากเชื้อราหรือหนอนพยาธิก็ได้ เมื่อผู้ป่วยเป็นปอดบวมก็จะมีหนองและสารน้ำอย่างอื่นในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติ ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะขาดออกซิเจนและอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิต

แล้วเนื้อปอดอยู่ตรงไหน? จุดเริ่มต้น เริ่มจากอากาศที่หายใจเข้าไปผ่านจมูก เข้าสู่กล่องเสียง เข้าสู่หลอดลมใหญ่แล้วไหลเรื่อยไปยังหลอดลมเล็ก เข้าสู่ถุงลมปอด ที่ถุงลมนี้เองจะเรียกรวม ๆ ว่า เนื้อปอด ส่วนการติดต่อเกิดขึ้นจากการหายใจเอาเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป หลังจากได้รับเชื้ออาจจะเกิดอาการภายใน 1-3 วัน การไอ จาม รดกันก็ติดต่อ บางรายอาจได้จากการกินน้ำแก้วเดียวกัน หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน ที่สำคัญคือการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม

หากติดเชื้อ จะพบอาการมีไข้สูง ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก มีเสมหะใสเหนียว เสมหะข้นหรืออาจมีเลือดปนออกมา ซึ่ง อาการทั้งหมดจะเกิดขึ้นโดยเร็ว ในเด็กเล็กอาจมีอาการไอเพียงเล็กน้อย ส่วนมากจะตัวร้อนจัด หายใจหอบจนซี่โครงบุ๋มและมีประวัติเป็นไข้หวัดมาก่อน วิธีการสังเกตุว่าเด็กหายใจเร็วหรือไม่ ให้นับอัตราการหายใจของเด็กขณะนอนหลับ โดยนับ 1 เมื่อหน้าอกเคลื่อนขึ้นลง 1 ครั้ง ในเด็กเล็กถ้าพบว่ามีการหายใจมากกว่า 40 ครั้ง หรือในเด็กโตหายใจมากกว่า 30 ครั้ง หรือพบว่ามีการหอบร่วมไปกับการหดตัวเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกหรือใต้ ลิ้นปี่ ให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันที

ผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุน้อย โดยเฉพาะในขวบปีแรก, เด็กน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย หรือเด็กขาดสารอาหาร, เด็กที่มีความพิการ โดยเฉพาะหัวใจพิการแต่กำเนิด, ผู้ใหญ่ที่ร่างกายอ่อนแอ และกรณีที่เข้ารับการรักษาช้าไป โรคแทรกซ้อนที่พบ น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด, หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด, ปอดแตกและมีลมในช่องปอด, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และหัวใจวาย

การรักษาของแพทย์

1. ผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ต้องกระตุ้นให้ดื่มน้ำมาก ๆ วัดไข้วันละ 2-3 ครั้ง รับประทานยาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งครัด ห้ามซื้อยาแก้ไอมารับประทานเอง ให้คอยตรวจดูริมฝีปากและเล็บว่ายังคงสีชมพูอยู่หรือไม่ หากมีสีคล้ำควรรีบพบแพทย์

2. ผู้ป่วยที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรืออาการเป็นมาก เช่น ไข้สูง หอบมาก ไอมาก แพทย์จะให้นอนโรงพยาบาลและตรวจเลือด เพื่อพิจารณาการให้ยาปฏิชีวินะ ออกซิเจน และสารน้ำทางหลอดเลือด

3. อาการอื่น ๆ ที่ตรวจพบ เช่นมีไข้ แพทย์จะพิจารณาใช้ยาลดไข้เฉพาะเวลาตัวร้อนห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ส่วนอาการไอนั้น ในโรคปอดบวมจะไอได้มากกว่าโรคหวัด ยาที่กินอาจเป็นยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยายขยายหลอดลมเพิ่ม แต่ห้ามกินยากดไม่ให้ไอหรือยาแก้แพ้ หรือยาแก้ไอสำเร็จรูปที่มีตัวยาตั้งแต่สามชนิดขึ้นไป เพราะแทนที่จะมีประโยชน์อาจเป็นโทษ เช่น ทำให้เด็กไอไม่ออก เสมหะที่มีมากอาจตกเข้าไปค้างในหลอดลมทำให้ปอดแฟบได้

ทำอย่างไรให้ไกลโรค? หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวม หลีกเลี่ยงมลภาวะเป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันท่อไอเสียรถยนต์ และหมอกควันในอากาศ ในเด็กอ่อนต้องไม่ให้สัมผัสกับความหนาวเย็น ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์และฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามความเหมาะสม

โรคปวดบวมแม้ว่าจะน่ากลัว แต่ก็สามารถป้องกันได้ เพียงใส่ใจดูแลตัวเอง

ที่มา: http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=457&contentId=9230

ทดลองวัคซีนไข้หวัด 2009 เคยฉีดให้เด็กแล้วมีอาการซึมคอตกและละเมอ

หน.ทีมวิชาการไข้หวัดใหญ่ 09 สธ. เผยวัคซีนกันไข้หวัด 09 มีผลข้างเคียงทดลองฉีดเด็ก 2 ราย มีอาการซึม คอตก ละเมอทั้งคืน ส่วนคู่มือชาวบ้านถึง ตจว.อังคารนี้...



รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ หัวหน้าทีมวิชาการไข้หวัดใหญ่ 2009 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นโรคอุบัติขึ้นใหม่ กำลังแพร่ระบาดในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ยังไม่รู้ว่าจะระบาดรุนแรงขนาดไหนหรือนานเท่าไร แต่ถือว่ายังโชคดีที่ก่อนหน้านี้ มีไข้หวัดนกทำให้มีการเตรียมวัคซีนป้องกันไว้ แม้จะเป็นไข้หวัดคนละสายพันธุ์ แต่ช่วยทำให้การดูแลและพัฒนาง่ายขึ้นกว่าเดิม ขณะนี้ต้องหัน มาป้องกันการสูญเสียชีวิตให้ได้เสียก่อน โดยเปลี่ยนจากควบคุมเป็นการรักษาแทน ส่วนวัคซีนป้องกันจะได้ประมาณปลายเดือนต.ค. เพื่อทดสอบกับคนและจะนำมาใช้ประมาณเดือนธ.ค.

หัวหน้าทีมวิชาการไข้หวัดใหญ่ 2009 สธ. กล่าวต่อว่า การใช้วัคซีนจะเป็นคำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วย เพราะเคยมีการให้วัคซีนกับเด็ก 2 คน ผลข้างเคียงคือ เด็กคนแรกมีอาการซึมคอตกตลอดเวลา ส่วนอีกคนเกิดอาการละเมอทั้งคืน เป็นผลข้างเคียงของยา ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือในอนาคตอาจเกิดอาการดื้อยาได้

ทั้งนี้มีรายงานว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดพิมพ์คู่มือประชาชนป้องกันไข้หวัด 2009 จำนวน 4 ล้านเล่ม เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มจัดส่งให้กับกรุงเทพมหานครเพื่อแจกจ่ายประชาชนได้ภายในวันจันทร์ ที่ 20 ก.ค.นี้ ขณะที่ในวันอังคารที่ 21. ก.ค. จะเริ่มจัดส่งให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/20617

รัฐบาลจีนสั่งกักตัวคณะนักเรียนชาวอังกฤษกว่า50คน หลังพบติดเชื้อไข้หวัด 2009

รัฐบาลจีนสั่งกักตัวคณะนักเรียนชาวอังกฤษ อยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง หลังพบ 4 คน ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขณะที่สิงคโปร์เสียชีวิตแล้ว 1 ราย....



สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันนี้(19 ก.ค.)รัฐบาลจีนสั่งกักตัวคณะนักเรียนชาวอังกฤษ หลังจากผลการตรวจพบว่ามีนักเรียน 4 คน ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขณะที่จอร์เจียยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรก ส่วนที่สิงคโปร์มีรายงานผู้เสียชีวิตคนแรกจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

บริติช เคาน์ซิล แถลงว่า นักเรียนชาวอังกฤษทั้ง 4 คน อยู่ในโรงพยาบาล ส่วนนักเรียนที่เหลือ 48 คนและครูถูกกักบริเวณอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง นอกจากนี้มีรายงานว่า จีนยังได้สั่งกักตัวนักเรียนชาวอังกฤษ 1 คน และครู 1 คน จากนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเวลา 2 วัน หลังจากตรวจพบว่ามีอุณหภูมิในร่างกายสูงเมื่อเดินทางมาถึงกรุงปักกิ่ง อย่างไรก็ตาม นักเรียนและครูคนดังกล่าวไม่ได้แสดงอาการไข้หวัด จึงได้ปล่อยตัวไปแล้ว

ทางด้านผู้เสียชีวิตรายแรกที่สิงคโปร์ เป็นชายวัย 49 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจากอาการหัวใจวาย อันเนื่องมาจากปอดบวมอย่างรุนแรงและได้รับเชื้อไวรัสชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายแรกในจอร์เจีย เป็นสตรีซึ่งเดินทางมาจากกรุงลอนดอน ซึ่งทางการจอร์เจียได้กักบริเวณผู้ติดเชื้อรายนี้ ภายใต้
การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด.

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/20570