ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ไข้หวัดมรณะคร่าชีวิตคนไทยแล้ว66ราย 1 ใน 3 เท่า ไม่มีโรคประจำตัว

วันนี้(28 ก.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำภาควิชาอารุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า การประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการ สาธารณสุขระดับชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่เป็นประธาน เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่มีใครเห็นด้วยกับการให้คลินิกจ่ายยาต้านไวรัสเซลทามิ เวียร์ ดังนั้นใครที่ออกมาพูดว่านักวิชาการเห็นด้วยโดยมีข้อแนะนำ 8 ข้อก่อนให้คลินิกจ่ายยาถือว่า เป็นการพูดที่โกหก

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้นำตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสำนักระบาดวิทยามาดู พบว่า จาก 66 รายนั้น มี 1 ใน 3 หรือ ประมาณ 22 ราย ที่ไม่มีโรคประจำตัว ดังนั้นก็เป็นไปตามที่ตนตั้งข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้ว่า คนแข็งแรงก็สามารถป่วยและเสียชีวิตได้ ดังนั้นประเด็นที่ต้องตั้งคำถามคือ
1. ผู้ป่วยได้รับยาช้าจริงหรือไม่
2.ถ้าคนไข้ไม่ได้ยาช้ามาจากเรื่องคุณภาพของยาต้านไวรัสหรือไม่ และ
3. เชื้อไวรัสดื้อยาหรือไม่.

ที่มา: http://dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=38&contentID=10932

เหยื่อไข้หวัดใหญ่ 2009 ตายแล้วรายแรกของพิจิตร เหตุติดเชื้อจากลูกสาว

พิจิตร – เหยื่อหวัด 09 ตายแล้วเป็นรายแรกของพิจิตร หลังติดเชื้อจากลูกสาวนักเรียนอนุบาลบางมูลนาก ก่อนที่สมาชิกในครอบครัวจะติดเชื้อกันหมด สุดท้ายผู้เป็นพ่อต้องสังเวยเป็นรายแรก

วันนี้ (28 ก.ค.) ที่ จ.พิจิตร นายพงษ์ศักดิ์ แพรขาว อายุ 45 ปี หรือ “เฮียโต” ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายเคมีการเกษตรอยู่ที่ อ.บึงนาราง จ.พิจิตร ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นรายแรกของ จ.พิจิตร หลังจากติดหวัดจากลูกสาวที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก จากนั้นทั้งครอบครัวก็ติดกันหมดทุกคน แต่นายพงษ์ศักดิ์ แพรขาว ผู้เป็นพ่อมีอาการลุกลามหนักเมื่อ 7 วันก่อนหน้านี้ จากนั้นญาติจะนำส่ง รพ.โพทะเล แต่หมอตรวจอาการแล้วบอกว่าให้นายพงษ์ศักดิ์ กลับบ้านได้

หลังจากนั้น อาการก็ทรุดหนักลงกว่าเดิมญาติจึงต้องนำตัวส่งต่อไปที่โรงพยาบาล จ.นครสวรรค์ ก็ปรากฏว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ลุกลามกินปอดหายไปทั้งหมด โดยญาติคนไข้ของนายพงษ์ศักดิ์ ที่เหลือก็ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส รวมถึงผู้เสียชีวิตก่อนตายก็ไม่ได้รับยาต้านไวรัส 2009 แต่อย่างใด

ที่มา: http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000085124

ไข้หวัดใหญ่ 2009 คร่าชีวิตหญิงวัย 59 ชาวโคราชเป็นรายที่ 2 ส่วนอีก 3 รายอาการหนักนอนไอซียู

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - หวัดใหญ่ 2009 คร่าชีวิตหญิงวัย 59 ปีชาวพิมายโคราช เป็นรายที่ 2 ของจังหวัดฯ เผยมีโรคประจำตัวเพียบทั้ง เบาหวาน ความดันสูง ไตวายเรื้อรังและอ้วน ด้านรองผอ.รพ.มหาราช ระบุมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่พักรักษาอยู่ที่ รพ.อีก 14 ราย อาการหนักอยู่ห้องไอซียู 3 ราย เตือนผู้มีโรคร้ายประจำตัวเรื้อรังเลี่ยงสถานที่แออัด คนมาก และห้ามเข้าใกล้คนป่วยเป็นไข้หวัดทุกชนิด

วันนี้ (28 ก.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. นพ.วีรศักดิ์ เกียรติผดุงกุล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยถึงผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้เข้ามาตรวจพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ว่าล่าสุดขณะนี้ มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เข้ามารักษาอยู่ในโรงพยาบาลได้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเป็นรายที่ 2 ของจังหวัดนครราชสีมา โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นหญิง อายุ 59 ปีชาว อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวาน ความดันสูง ไตวายเรื้อรัง และอ้วน ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลพิมาย อ.พิมาย เข้ารักษาที่ห้องไอซียูโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอยู่ประมาณ 5 วัน ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 นอนพักรักษาตัวอยู่จำนวน 14 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนักอยู่ที่ห้องไอซียูจำนวน 3 ราย แพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และไม่ต้องตื่นตระหนกมากจนเกินไป เพราะโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 สามารถป้องกันและรักษาหายได้ ซึ่งผู้เสียชีวิตของจ.นครราชสีมาทั้ง 2 ราย ล้วนมีโรคเรื้อรังประจำตัวรุมเร้าหลายโรคและร่างกายไม่แข็งแรง
ฉะนั้นประชาชนที่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคร้ายเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดันสูง โรคปอด และโรคไตรวมทั้งอ้วน ให้ระมัดระวังป้องกันตัวเองเป็นพิเศษ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องเข้าไปในที่ชุมชนมีคนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านเกม และไม่ควรเข้าใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดทุกชนิด

“ล่าสุดโรงพยาบาลรัฐ และสถานพยาบาลในเขตเมืองที่มีแพทย์ประจำ ในจังหวัดนครราชสีมาทุกแห่งได้ปรับกลยุทธการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สาย พันธุ์ใหม่ 2009 โดยหากสงสัยป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้แพทย์สั่งจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ให้กับคนไข้ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลการ ตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการ เพราะจะทำให้การรักษาผู้ป่วยไม่ทันท่วงที่หรือช้าเกินไป” นพ.วีรศักดิ์ กล่าว

ที่มา: http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000085213

หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 อาการทรงตัว ส่วนลูกไม่พบเชื้อแล้ว

รม ช.สธ. เผยอาการหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือนและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ฯ หลังผ่าตัดคลอดรักษาที่รพ.จุฬาฯ วันนี้ ยังใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ยาโอเซลทามิเวียร์ครบ ไม่มีเชื้อแล้ว แต่พบปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

วันนี้ (27 ก.ค.) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเยี่ยมอาการหญิงอายุ 24 ปี น้ำหนัก 115 กิโลกรัม ตั้งครรภ์ 7 เดือนและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ซึ่งแพทย์ รพ.ราชบุรี ผ่าตัดช่วยคลอด และส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2552 ว่า ในวันนี้ ผู้ป่วยอาการทรงตัว ยังคงอยู่ในห้องไอซียู ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หลังจากได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ครบ ผลการตรวจเชื้อซ้ำไม่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯแล้ว แต่พบเชื้อแบคทีเรียชนิดเชื้อรุนแรง ผลเอกซเรย์ปอดยังไม่ดีขึ้น แพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

สำหรับ อาการของลูกซึ่งรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลราชบุรี นายมานิต กล่าวว่า วันนี้ได้รับรายงานว่าอาการดีขึ้น ตรวจไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แล้ว แต่แพทย์ยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวเพียง 1,500 กรัม

นาย มานิต กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งให้การดูแลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทุกรายอย่างเต็ม ที่ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อไข้ หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ โดยขอให้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หลีกเลี่ยงการคลุกคลีอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ป่วย เป็นไข้หวัด หรือหากจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะในที่ชุมนุมชน จะต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และล้างมือบ่อย ๆ โดยหากป่วยเป็นไข้ แม้จะไม่มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ก็ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพื่อจะได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์หากพบเข้าข่ายเป็นไข้หวัดใหญ่สาย พันธุ์ใหม่ฯ ซึ่งยานี้สามารถให้ได้แม้จะอยู่ในระยะตั้งครรภ์ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม จะนำประวัติของผู้ป่วยรายนี้ ให้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศึกษาวิเคราะห์ หาสาเหตุการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกต่อไป

ทั้ง นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กระจายยาต้านไวรัสให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ครอบคลุมถึงโรงพยาบาลชุมชนแล้ว โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 แห่งทั่วประเทศ มีแห่งละ 20,000 เม็ด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด แห่งละ 5,000 เม็ด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป แห่งละ 2,000 เม็ด และโรงพยาบาลชุมชนแห่งละ 300 เม็ด

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/22397