ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สธ. เผยยอดเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 รอบสัปดาห์ 14 ราย รวมยอดเสียชีวิตสะสม 111 ราย คาดยอดติดเชื้ออีกนับ 5 แสน

สธ. เผยยอดเสียชีวิตหวัดใหญ่ 2009 รอบสัปดาห์ 14 รายร้อยละ 85 มีโรคประจำตัว รวมตาย 111 ราย ยอดติดเชื้อทะลุ 5แสน แนวโน้มการระบาดทรงตัว 25 จังหวัดระบาดเพิ่มขึ้น คาดระบาดต่อเนื่องช่วงปลายฝนต้นหนาว ยังไม่บดื้อยาหรือเชื้กลายพันธุ์ ฮูแนะนำทุกประเทศไม่ต้องรายงานผลการตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้ว แต่ให้ใช้ดัชนีวัดการแพร่ระบาดด้วยโรคปอดติดเชื้อแทน

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 19 สิงหาคม นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ศุภมิตร ชุณหสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พญ.มอรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าว สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ของไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 9-15 สิงหาคม 2552 ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 14 ราย เป็นชาย 7 ราย หญิง 7 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ85 มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดหรือสูบบุหรี่จัด ภาวะอ้วน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคระบบเลือดและโรคเบาหวาน รวมไทยมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 111 ราย และคาดว่ามีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 5 แสนราย ขณะที่องค์การอนามัยโลกสรุปถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2552 มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตมายังองค์การอนามัยโลก 1,735 ราย ซึงทั่วโลกใช้วิธีการประเมิน ในอัตราการเสียชีวิต 1 ต่อจำนวนผู้ป่วย 10,000 ราย

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯของไทย ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มชะลอตัวในกทม.และปริมณฑล แต่ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในต่างจังหวัด ซึ่งกระจายทุกภาคใน 25 จังหวัด โดย จังหวัดที่มีผู้ป่วยเกินกว่า 100 รายขึ้นไป ได้แก่ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร ราชบุรี นครสวรรค์ เชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก กำแพงเพชร ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช ซึ่งผู้ว่าราชการและสาธารณสุขจังหวัดแต่ละจังหวัดได้ร่วมกันเฝ้าระวังและควบ คุมโรคในพื้นที่ นอกจากนี้ การแพร่ระบาดในกลุ่มอายุ 11-24 ปี โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เริ่มชะลอตัว ส่วนกลุ่มอายุอื่นๆ เริ่มทรงตัว ซึ่งการชะลอตัวการระบาด ทั้งพื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีปัจจัยจากประชาชนมีความระมัดระวังป้องกันตัวเองมากขึ้น และภาครัฐและเอกชนช่วยกันให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชน

“ส่วนแนวโน้มการระบาดสำนักระบาดวิทยาคาดการณ์คาดการณ์ว่า ในช่วง 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว ประกอบกับเป็นช่วงของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลซึ่งเป็นประจำทุกปี จึงขอย้ำเตือนประชาชนอย่าละเลยการป้องกันตัว ขอให้ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ และคาดหน้ากากอนามัยเมื่อไปอยู่ในที่มีคนแออัด”นพ.ไพจิตร์กล่าว

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า สำหรับการติดตามเฝ้าระวังการดื้อยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สุ่มตัวอย่างเชื้อจากกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการคล้าย ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ และกลุ่มที่ยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ นำมาตรวจด้วยวิธีทางพันธุกรรม(Genotyping testing) เพื่อหายีนส์ที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยา และวิธียืนยันทางชีววิทยา (Phenotypic testing) เพื่อทดสอบการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์และยาซานามิเวียร์ ตลอด 4 เดือนมานี้จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ยังไม่พบปัญหาเชื้อดื้อยาหรือเชื้อกลายพันธุ์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขระดับ ชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทย์หลายแห่ง ได้ทบทวนตรวจสอบผลการเฝ้าระวังการดื้อยา ซึ่งไม่พบว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ดื้อต่อยาโอเชลทามีเวียร์เช่นกัน

“ขณะนี้มีการรายงานการกระจายยาต้านไวรัสไปสู่คลินิกเอกชนทั่วประเทศ ขึ้น จำนวน 60 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 80 มีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ 571 แห่ง จาก 4,394 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 13 แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่กระจ่ายยาให้คลินิกอย่างเดียวแล้วจะช่วยลดอัตราการ เสียชีวิตได้แต่หากมีผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ให้ไปโรงพยาบาล โดยเน้นให้แพทย์ รักษาตามแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ”นพ.ไพจิตร์กล่าว

รองปลัดสธ.กล่าวด้วยว่า ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก แม้ว่าขณะนี้องค์การอนามัยโลกแจ้งว่าประเทศต่างๆไม่จำเป็นต้องส่งข้อมูล จำนวนผู้ป่วยที่ตรวจยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มายังองค์การอนามัยโลก เป็นประจำเช่นในระยะแรกของการระบาด และจะไม่มีการจัดอันดับประเทศตามจำนวนผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตอีกต่อไป แต่สามารถติดตามข้อมูล สถานการณ์การระบาดในระดับนานาชาติทั้งจากองค์การอนามัยโลกและสื่อต่างๆ โดยพบว่าทั่วโลกมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เกือบทุกทวีปแล้ว ในออสเตรเลีย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 104 ราย มีผู้ป่วยยืนยันกว่า 2 หมื่นราย ผู้ป่วยหนักนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 400 ราย ประเทศญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย คาดว่าการระบาดทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไป

พญ.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์โลกโดยภาพรวมองค์การอนามัยโลกแนะนำไปยังประเทศต่างๆ ไม่ต้องส่งยืนยันผลการตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่ให้ใช้ดัชนีชี้วัดการป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ เป็นตัวชี้สถานการณ์ของการแพร่ระบาด ซึงขณะนี้แนวโน้มการระบาดในบางประเทศลดลง 3-4 ประเทศ ได้แก่ อาเจนตินา ชิลี ออสเตรเลีย และมีบางประเทศที่มีอัตราการป่วยเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย ปารากวัย อินโดซีเซีย กัวเตมาลา ส่วนสาเหตุที่โรครุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตจากปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส จะมีการประมวลสถานการณ์ล่าสุดมาใช้ในการวางแผนการทำงานในแต่ละวัน และจะนำแนวทางของแต่ละประเทศมาแลกเปลี่ยนความรู้ และทำเป็นคู่มือ รวมทั้งนำข้อมูลของไทยมาเป็นตัวอย่างเผยแพร่ด้วย

ส่วนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งพบว่ามีปัญหาการเก็บเกี่ยววัคซีนจากการเพาะเชื้อไวรัสในไข่ไก่ไม่เป็นไป ตามเป้าหมายนั้น ไม่เห็นว่ามีปัญหาสำคัญอะไร ซึ่งปัญหาทางเทคนิคก็ต้องปรับแก้กันไป โดยในวันที่ 20 ส.ค.ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกสำนักงานใหญ่จะประชุมวีดีโอผ่านทางไกล เทเลคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยด้านการผลิตวัคซีนอาทิ องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้คุยกันเป็นระยะอยู่แล้ว เพื่อหารือและปรับปรุงความคืบหน้าในการวิจัยดังกล่าว

“ใน ช่วงแรกคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกให้ทุกประเทศเฝ้าระวังและค้นหาผู้ป่วย 100 รายแรกในแต่ละประเทศเพื่อให้รู้จักโรคนี้อย่างดีที่สุด แต่ขณะนี้ได้เลยระยะดังกล่าวไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นสิ้นเปลือง โดยให้ทุกมาตรการปรับใช้ดัชนีตัวอื่นมาเสริมการป้องกันการกระจายโรคของแต่ละ ประเทศ แต่ที่องค์การอนามัยโลกต้องการให้แต่ละประเทศมีข้อมูลเพื่อเน้นคำตอบจากคำ ถามที่ควรมีความรู้ว่า โรคเกิดที่ใหม่ที่ใด เชื้อดื้อยาแล้วหรือไม่ รุนแรงขึ้นหรือไม่ ปัจจัยเรื่องการรักษาช้าทำให้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตหรือไม่ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรครุนแรงขึ้นฯลฯ”พญ.มัวรีน กล่าว

ที่มา:http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9520000094242