ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ผลวิจัยชี้สตรีมีครรภ์เสี่ยงติดไข้หวัด 2009 สูงกว่าคนทั่วไป 4 เท่า

คมชัดลึก :ผลศึกษาในสหรัฐฯ ระบุ สตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงจากหวัดใหญ่ 2009 มากกว่าผู้ติดเชื้อทั่วไปถึง 4 เท่า

วันนี้ (29ก.ค.) ผลศึกษาที่จัดทำโดยคณะเจ้าหน้าที่ภายใต้การนำของเดนิส จามีสัน แห่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันอังคาร และจะตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์"แลนเซ็ท" ฉบับวันที่ 8 สิงหาคมระบุว่า สตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ติดเชื้อทั่วไปมากถึง 4 เท่า ที่จะป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

สตรีมีครรภ์ยังมีความเสี่ยงสูงเช่นกันที่จะเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือแม้แต่จากไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล แต่ก็มีสตรีมีครรภ์ในสหรัฐฯเพียงร้อยละ 15 ที่ทำตามคำแนะนำตั้งแต่ปี 2547 ของ CDC เรื่องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะกลัวเกิดผลข้างเคียงกับบุตรในครรภ์

การเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์โดย CDC แสดงว่าในระหว่างกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม อันเป็นเดือนแรกของการระบาด นับจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ประกาศให้โรคนี้เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก มีสตรีมีครรภ์ในสหรัฐฯที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัส เอ (เอชวัน เอ็นวัน) รวม 34 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มี 11 คน หรือ 1 ใน 3 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่อัตราส่วนของคนทั่วไปที่ติดเชื้อจนต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่ที่ร้อยละ 8 หรือ คิดเป็น 1 ใน 4 ของอัตราส่วนในสตรีมีครรภ์

ในช่วงเดือนแรกมีสตรีมีครรภ์ในสหรัฐฯเสียชีวิตจากโรคนี้ 1 คน แต่ในเดือนถัดมา เสียชีวิตเพิ่ม 5 คน ทุกคนมีอาการของนิวมอเนีย กับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (acute respiratory distress syndrome ) จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทั้งหมดไปพบแพทย์ภายใน 1-6 วันหลังมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และได้รับยาต้านไวรัสซึ่งที่ผ่านมาใช้ได้ผลในการต้านไข้หวัดใหญ่ 2009 แต่ทั้งหมดไม่ได้รับยานี้จนอย่างน้อยวันที่ 6 ที่ป่วย

จามีสันกล่าวว่า สาเหตุที่สตรีมีครรภ์มีความเสี่ยงจากโรคสูงมากขึ้น น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในระบบต่างๆของร่างกายช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งรวมทั้งกลไกและฮอร์โมน, ระบบทางเดินหายใจ,หัวใจกับหลอดเลือดหัวใจ กับระบบภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกัน ขีดความสามารถของปอดยิ่งลดลงเมื่อตัวอ่อนเติบโตมากขึ้น มีพื้นที่ในปอดน้อยลงทำให้สตรีมีครรภ์อ่อนแอมากขึ้น จึงได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้นจากโรคที่เกิดจากไวรัส รวมทั้ง ไข้หวัดใหญ่

จามีสันกล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จึงยังไม่อาจแนะนำให้สตรีมีครรภ์ฉีดวัคซีนดังกล่าว แต่ขอเสนอแนะให้สตรีมีครรภ์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

ทารก 5 คนจากสตรีมีครรภ์ 6 คนที่เสียชีวิตเกิดจากการผ่าท้องทำคลอด ไม่มีเด็กคนไหนที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และเกือบทั้งหมดได้ออกจากโรงพยาบาลไปแล้วอย่างมีสุขภาพดี ยกเว้นเพียงคนเดียว ที่ผ่าท้องคลอดก่อนกำหนด 13 สัปดาห์ จึงยังอยู่ในโรงพยาบาลแต่ก็มีอาการดีส่วนสตรีคนที่หกตั้งครรภ์ได้เพียง 11 สัปดาห์ และเด็กในครรภ์เสียชีวิตพร้อมมารดา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/detail/20090729/22269/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%9409%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A14%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น