ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กรมการแพทย์เผยผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 6 แสนคน ด้านสธ.เปิดห้องปฏิบัติการ "ผ่าศพ"

สธ. เปิดห้องปฏิบัติการ “ผ่าศพ” เก็บข้อมูลพยาธิสภาพของผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 เพื่อวิจัยค้นหาแนวทางการรักษาที่ดีที่สุด เผยเป็นโอกาสที่จะได้ศึกษาทางการแพทย์และวางมาตรการรับมือการระบาดระลอก 2 ในเดือนส.ค.นี้

วันนี้ (27 ก.ค.) นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขยายวงการระบาดไปทั่วประเทศ ในขณะนี้ คาดว่าประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อโรคนี้จริงๆมากกว่า 5- 6 แสนคน กรมการแพทย์ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการให้การรักษาผู้ป่วย เพราะมีสถานพยาบาลระดับตติยภูมิและศูนย์การแพทย์ในสังกัดหลายแห่ง โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลราชวิถี มีผู้ป่วยมารับการรักษาในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยเฉพาะผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกวันละ 300 – 400 ราย หรือ ที่สถาบันสุชขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีผู้ป่วยมารับการรักษามากขึ้นจนต้องเปิดคลินิกพิเศษให้บริการจนถึงเที่ยง คืนทุกวันราชการ การที่มีผู้ป่วยมารักษาเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งแม้จะทำให้แพทย์และพยาบาลมีภาระงานเพิ่มขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งในฐานะหน่วยงานที่ต้องวิจัยและพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าใน ทางการแพทย์ การมีขนาดตัวอย่างของผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้สามารถที่จะสุ่มตรวจและเก็บข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแนวทางการ รักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

อธิบดี กรมการแพทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ รวมทั้ง ขอความร่วมมือโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เก็บข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วทุกรายอย่างละเอียด เพื่อจะนำมาเป็นข้อมูลในการวิจัยทางคลินิก ถึงพยาธิสภาพของโรคที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆของร่างกาย เพราะที่ผ่านมา ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเอ เอช 1/เอ็น 1 แม้จะมีอาการทั่วไปเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในบางราย โดยเฉพาะภาวะความรุนแรงที่เกิดกับปอด เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบ หรือแม้แต่ในกลุ่มที่อาจจะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง คือ ไม่ใช่คนอ้วน ไม่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ แต่กลับมีอาการรุนแรง แพทย์อาจจะต้องพยายามค้นหาสาเหตุ ปัจจัยเหล่านี้ แม้จะเป็นเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยมากก็ตาม

นพ.เรวัติ กล่าวด้วยว่า อีกส่วนหนึ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การขันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยสถาบันพยาธิวิทยา มีห้องปฏิบัติการผ่าชันสูตรศพที่สามารถชันสูตรศพโรคติดเชื้อได้เพียง แห่งเดียวในประเทศไทยขณะนี้ โดยได้ทำการชันสูตรศพอย่างละเอียดไปแล้ว 2 ราย เท่าที่ญาติผู้เสียชีวิตยินยอม ทำให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของไวรัสที่ส่งผลต่อการทำงานของ อวัยวะในระบบต่างๆ โดยเฉพาะความรุนแรงต่อระบบการหายใจทั้งระบบ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการแพทย์และการรักษาโรคนี้ต่อไป

" ห้องปฏิบัติการชันสูตรศพของสถาบันพยาธิวิทยาเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้ มาตรฐาน สามารถแบ่งความดันลบหรือที่เรียกว่า Negative Pressure ได้ถึง 3 ระดับ มีมาตรการป้องกันตั้งแต่การลำเลียงศพเข้า –ออก ที่มีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างเข้มข้น โดยออกแบบระบบปรับอากาศและระบายอากาศ แบบ 100% เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้ปฏิบัติงาน มีการเติมอากาศ และ กรองอากาศ รวมถึงการฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี เชื่อมั่นได้ว่ามีความปลอดภัย 100 % " อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวและว่า นับจากนี้ หากมีการขอร้องจากแพทย์หรือญาติที่อนุญาตให้ทำการผ่าศพเพื่อพิสูจน์เป็น วิทยาทานทางการแพทย์ กรมการแพทย์ก็จะดำเนินการทันที เพราะถ้ามีการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยที่ดีพอ เชื่อมั่นว่า แม้จะมีการคาดการณ์ การระบาดของโรคระลอกสองในเดือนส.ค.-ต.ค.นี้ แพทย์จะมีแนวทางในการรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังจะช่วยลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตลงได้มาก

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/special/22355

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น