ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นครพนมพบผู้ป่วยไข้หวัด2009 1 รายเสียชีวิต-หญิง16ปีชาวโคราชตั้งท้อง6เดือนเข้ารพ.เสียชีวิตแล้ว

คมชัดลึก :สสจ.นครพนมเผยพบผู้ป่วยหวัด 1 รายเสียชีวิต ชี้สต๊อกยาโอเชลทามิเวียร์ต้านไวรัสมีทุกโรงพยาบาล 12 อำเภอรับมือหวัด 2009 ได้อย่างเพียงพอ แต่ยังไม่มีโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกเข้าร่วมโครงการ รองปลัดสธ.เผยยอดผู้เสียชีวิตน้อยลง ภาคอีสานหลายจังหวัดสถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วงกำชับบุคคลากรสาธารณสุขทุก แห่งเตรียมรับมือการแพร่ระบาดรอบสองในช่วงฤดูหนาว หมอประเสริฐ เสนอ สธ. ตั้ง คกก.วิจัยศึกษา“ หวัด 2009” ตั้งแต่ตัวเชื้อ การรักษา ปัจจัยเสี่ยง ไม่เว้นแม้แต่การสื่อสารที่พลาด

(3ส.ค.) นายแพทย์เด่นชัย ศรกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนมเปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไข้หวัด 2009 ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ทุกอำเภอพบผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 36 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 รายในเขตพื้นที่อำเภอนาแกเป็นชายวัยกลางคน และมีโรคแทรกซ้อนลิ้นหัวใจรั่วซึ่งผู้ป่วยที่พบจะเป็นเขตอำเภอรอบนอก

สำหรับสต๊อกยาโอเซลทามิเวียร์ต้านไวรัสหวัด 2009 ที่สำนักงานสาธารณสุขนครพนมได้รับมีจำนวนเพียงพอรับมือไข้หวัด 2009 ได้ ขณะที่ยาต้านไวรัสดังกล่าวได้กระจายลงสู่ทุกโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วจังหวัด โดยโรงพยาบาลจังหวัดนครพนม ได้จำนวน 2,000 เม็ด สต๊อกยากลางสำนักงานสาธารณสุขนครพนมมีจำนวน 8,000 เม็ด ส่วนโรงพยาบาลอำเภอทุกอำเภอและโรงพยาบาลค่ายพระยอดเมืองขวาง โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมมีสต๊อกยาแห่งละ 600 เม็ดซึ่งเพียงพอรับมือไข้หวัด 2009 ในขณะนี้ ในส่วนคลีนิคในพื้นที่เนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลเอกชนขณะนี้ยังไม่มีคลินิกใดเข้าร่วมโครงการแต่ประการใด

หญิง16ปีชาวโคราชตั้งท้อง6เดือนเสียชีวิตแล้ว

เมื่อเวลา 15.30 น.นพ.กวี ไชยศิริ ผอ.รพ.มหาราช นครราชสีมา เปิดเผยภายหลังได้รับแจ้งจาก หน.พยาบาล ประจำหอผู้ป่วยหนัก ไอซียู ชั้น 7 อาคาร 8 ชั้นหลังเก่า ว่า ผู้ป่วยไข้หวัด ที่ถูกส่งตัวมาจาก รพ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เป็นหญิง อายุ 16 ปี ตั้งครรถ์ 6 เดือน เมื่อประมาณช่วงกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา จากการตรวจผลเป็นลบ ซึ่งแสดงว่าผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดสายพันธ์ใหม่ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ผู้ป่วยได้แท้งลูก สาเหตุเกิดจากการหญิงที่ตั้งครรถ์อายุน้อย และมดลูกไม่แข็งแรง โดยผู้ตายมีอาการปอดอักเสบต้องใช้เครื่องช่วยหายในตลอดเวลา ส่งผลให้ลูกในครรถ์ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อ มา ซึ่งทางคณะแพทย์ได้พยายามยื้อชีวิตอย่างเต็มที่ แต่ผู้ป่วยซึ่งมีอาการปอดอักเสบ ทำให้เนื้อปอดบวมจนแตก พร้อมกับการหายใจล้มเหลว ล่าสุดมีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนัก 7 ราย ซึ่งแพทย์ต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด

รองปลัด สธ.เตรียมรับมือหวัด2009เผยอีสานน่าห่วง

เมื่อเวลา 16.00 น. นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิสิทธิ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารณสุขจ.กาฬสินธุ์ นายแพทย์สมปอง เจริญวัฒน์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์พร้อมคณะเดินทางเข้าเตรียมเยี่ยมการเฝ้าระวังการแพร่ ระบาด การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ใหม่ภายในโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมทั้งมอบนโยบายและให้กำลังใจกับบุคลากรสาธารณสุขทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลกาฬสินธุ์

นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ของไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ใหม่ 2009 ทั่วประเทศขณะนี้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นมาก เพราะจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อลดน้อยลง และจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตก็ลดน้อยลงอย่างมากจากที่คาดการณ์ไว้ ส่วนการลงพื้นที่ในจ.ขอนแก่นและจ.กาฬสินธุ์วันนี้เป็นการเดินทางมาตรวจ เยี่ยมและให้กับลังใจตลอดจนมอบนโยบายให้กับบุคลากรสาธารณสุขทุกคน

ทั้งนี้พบว่าโรงพยาบาลสถานีอนามัยได้ช่วยกันดูแลรักษาตามแนวทาง ของกระทรวงสาธารณสุขและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จนทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 คลี่คลายลง แต่ก็มีหลายจังหวัดใน ภาคอีสานยังมีสถานการณ์ที่น่าห่วงอยู่เพราะยังพบการติดเชื้อพร้อมๆกันหลาย ราย ส่วนจ.กาฬสินธุ์เท่าที่รับทราบสถานการณ์ยังไม่น่าห่วงที่สำคัญยังไม่พบผู้ เสียชีวิต

นายแพทย์จักรธรรม กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มองการไว้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคไปถึงคลื่นลูกที่สองแล้ว หรือการแพร่ระบาดในรอบที่สอง เนื่องจากนักวิชาการได้ออกมาคาดการณ์และระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่อาจจะรุนแรงขึ้นอีกในช่วงฤดูหนาว คือเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ดังนั้นทางกระทรงจึงได้กำชับให้บุคลากรในทุกจังหวัดเร่ง ดำเนินการลดจำนวนการเกิดของโรคและติดเชื้อรายใหม่ให้ได้มากที่สุด เช่น คาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อ 100 ราย ก็ให้เหลือสัก 40 รายโดยเน้นยุทธวิธีให้อสม.ซึ่งมีอยู่ 900,000 คนทั่วประเทศช่วยกันรณรงค์และออกให้ความรู้กับประชาชนอย่างทั่วถึง งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการไข้สูงหรือติดเชื้อ หากกินยารักษาภายใน 48 ชั่วโมงแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นจะต้องได้รับการรักษาทันที

ส่วนการดำเนินการแจกจ่ายยาต้านไวรัสขณะนี้ทางกระทรวงฯได้ดำเนินการแจก จ่ายยาไปยังโรงพยาบาลและคลินิกในทุกแห่งแล้ว ยืนยันว่าเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้เราสามารถผลิตยาได้เองแล้ว แต่คลินิกต่างๆที่รับยาจะต้องเคร่งครัดในกฎเหล็กทั้ง 8 ข้อของคณะกรรมการด้วย
ทั้งนี้หากการเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แบบนี้อย่างต่อเนื่องคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นประชาชนควรอุ่นใจและไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไป

ด้านนายแพทย์พิสิทธิ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธ์ใหม่ 2009 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 56 ราย โดยส่วนใหญ่รักษาหายแล้ว ส่วนที่เหลืออาการไม่น่าห่วง และยังไม่มีผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ เน้นย้ำให้บุคคลากรในโรงพยาบาลอำเภอ สถานีอนามัย ตลอดจนอสม.ทุกคน ทุกแห่งให้ช่วยกันรณรงค์ป้องกันโรคดังกล่าว โดยให้อสม.นำข้อมูลไปบอกต่อกับเพื่อนบ้านปากต่อปากและหากพบผู้ป่วยหรือต้อง สงสัยก็ให้รายเข้ามาทันที ส่วนโรงพยาบาลขณะนี้ได้กำชับให้จัดจุดคัดกรองผู้ป่วยไว้ทุกแห่ง
พร้อมทั้งได้แจกจ่ายยาต้านไวรัสไปให้โรงพยาบาลและคลินิกทุกแห่งแล้ว

หมอประเสริฐ ” เสนอ สธ. ตั้ง คกก.วิจัยศึกษา “ หวัด 2009

ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลา 17.00 น. นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการการแพทย์และสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ตั้งคณะกรรมการขึ้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นมา และไม่เคยมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มาก่อน ซึ่งผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะรวบรวมเป็นความรู้ทางวิชาการเพื่อใช้ประโยชน์ ในอนาคต สำหรับประเด็นในการศึกษาวิจัยจะวิจัยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเชื้อ ภาวะโรค การรักษา

นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า การวิจัยเกี่ยวกับตัวเชื้อไวรัสชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 นั้น จะศึกษาตั้งแต่ลักษณะพันธุกรรมเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติของเชื้อนี้ ตลอดจนยังเป็นการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อที่นำไปสู่การกลาย พันธุ์ที่อาจนำมาถึงความรุนแรงในการก่อโรคได้ การศึกษากลไกการสร้างภูมิกันและการตอบสนองต่อการติดเชื้อไข้หวัด 2009 ที่ระบาดไปทั่วโลก การศึกษาความรุนแรงของโรคในผู้ป่วย พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นจากตัวเชื้อที่มีทั้งอาการรุนแรงและไม่รุนแรง ทั้งนี้การวิจัยนี้จะนำไปสู่การสร้างโมเดลเพื่อพยากรณ์สถานการณ์การระบาดของ เชื้อและการรับมือป้องกันในอนาคต

ส่วนการวิจัยในด้านการป้องกัน จะมีการทบทวนและประเมินมาตรการในการป้องกันโรคที่ได้มีการนำมาใช้ในการ ป้องกันการแพร่ระบาดในครั้งนี้ เช่น การใช่เทอร์โมสแกนในการวัดอุณหภูมิร่างกาย มาตรการการปิดโรงเรียน เป็นต้น การศึกษาแนวทางการนำยาต้านไวรัสมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อหวัด 2009 และความคุ้มค่าในการนำมาใช้ นอกจากนี้ยังศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบป้องกันโรคโดยประชาชนเน้นการมีส่วนร่วม

นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การวิจัยนี้ยังศึกษาด้านการรักษาโรค มาตรการรักษาที่นำมาใช้ เช่น การใช้ชุดทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อซึ่งจะดูในเรื่องแม่นยำในการตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้นำไปสู่การวิจัยและพัฒนาชุดทดสอบเพื่อใช้ในการเฝ้าระวังโรค และตรวจวินิจฉัยโรคที่รวดเร็ว การศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีผลการลุกลามของตัวเชื้อที่ส่งผลให้เกิดภาวะโรคที่ รุนแรง การศึกษาทางคลินิกและการพัฒนาของตัวโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่เสียชีวิตและมีอาการที่พบได้น้อย

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นควรให้มีการศึกษาวิจัยด้านการสื่อสารความ เสี่ยงด้วย โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบของการให้ข่าวที่คลาดเคลื่อนของบุคคลต่างๆ อาทิ นักการเมือง ผู้บริหาร นักวิชาการ ต่อการปฏิบัติในการป้องกันโรค

ขอนแก่นเลิกแยกผู้ป่วยหวัดใหญ่-หวัด2009

ที่ห้องประชุมเสียงแคน ศาลากลาง จ.ขอนแก่น นายอนุกูล ตั้งคณานุกูลชัย รองผู้ว่าราชการ จ.ขอนแก่น เปิดเผยในงานแถลงข่าวการจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานภาคอีสาน ประจำปี 2552 ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า ปัจจุบันนี้ไม่มีการแยกแล้วว่าเป็นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพราะจากข้อเท็จจริงที่ปรากฎว่าพบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคของไข้หวัดใหญ่ธรรมดากว่า 80% จะเป็นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 เพราะฉะนั้นการรักษาของแพทย์ก็จะรักษาในลักษณะเดียวกันทั้งหมด

สำหรับยอดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ใน จ.ขอนแก่น ขณะนี้มีประมาณ 3,000 กว่าคน จากประชากรทั้งหมดราว 1.7 ล้านคน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดผู้ป่วยอยู่ในอัตราเดียวกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าตระหนกตกใจมากนัก เพียงแต่ว่าเรื่องของการคัดแยกผู้ป่วย กับการรักษาเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในสถานศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ทางผู้บริหาร ครู อาจารย์จะต้องมีการคัดกรองเด็กนักเรียน และต้องมีการตรวจสอบว่า ถ้าเด็กนักเรียนมีอาการไข้สูง อุณหภูมิร่างกายเกินกว่า 38 องศาเซลเซียสก็จะต้องคัดแยกออกไป และส่งต่อมาที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษาต่อไป

ด้านนางจุฑามาศ บุญอาจ ผอ.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคที่ 6 ขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันฯ ได้ทำการฝึกอบรมการผลิตเจลฆ่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไปแล้ว 1 รุ่น และในวันที่ 7 ส.ค.นี้ จะทำการฝึกอบรมอีก 1 รุ่น แต่การฝึกอบรมนั้นจะเน้นให้ประชาชนนำไปผลิตใช้ในครัวเรือนมากกว่าเน้น จำหน่าย เนื่องจากหากจะผลิตเพื่อจำหน่ายต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบอีกหลายขั้นตอน แต่เพื่อสนองนโยบายของรัฐที่ต้องการสกัดการแพร่ระบาดของโรค จึงได้ทำการฝึกอบรมเพื่อนำผลิตใช้ในครัวเรือน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/detail/20090803/22930/%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B8%B4%E0%B8%8716%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%876%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E.%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น