ลิงค์ผู้สนับสนุน

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สาธารณสุขเป็นห่วงสถานการณ์ไข้หวัด2009ระบาดหนักใน ส.ค.-ก.ย.นี้

คมชัดลึก : สธ. ห่วงหวัด 2009 ระบาดหนัก ส.ค.-ก.ย. นี้ เหตุยอดป่วยสูงกว่าหวัดใหญ่พันธุ์เดิม 10 เท่า เตือนยังระบาดต่อถึง ม.ค.-ก.พ. ปีหน้า ด้านคณะอนุฯหวัดสายพันธุ์ใหม่ สสส. ชู “รวมพลังสู้หวัด 2009” ประสาน 10 ทิศ ผนึก 3 เหล่าทัพ-ศธ.-ก.แรงงาน-กทม. –อบต. –ขนส่งมวลชน คลอบคลุม 27 ล้านคน เจลล้างมือ-สื่อ พรึ่บทั่วประเทศ ระยะยาวหนุนงานวิจัยเตรียมรับภาวะฉุกเฉิน

(7ส.ค.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มีแถลงการประชุม “คณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกัน ควบคุม และการแก้ปัญหาการแพร่ระบาด ของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 สสส.” โดย นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยาประเมินสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเอช 1 เอ็น1 ว่า ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. นี้ คาดว่าการแพร่ระบาดยังเป็นช่วงขาขึ้น เนื่องจากสถิติที่ผ่านมาในปี 2551 มีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ช่วงเดียวกันจำนวนประมาณ 10,000 รายต่อเดือน ขณะที่ปีนี้ในช่วงเดือนมิ.ย.และ ก.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เฉลี่ยมากกว่าเดิมประมาณ 10 เท่า เป็นผลจากการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่ประชาชนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้นเมื่อเข้าสู่เดือน ส.ค.-ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงปกติที่ไข้หวัดใหญ่จะระบาดมากที่สุด ก็จะทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแน่นอน

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า การระบาดของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ในรอบแรกของไทยครั้งนี้ จะต่อเนื่องไปถึงเดือนม.ค.-ก.พ. ปี 2553 เพราะฤดูที่ระบาดมากจะอยู่ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่การที่ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น ทำให้บางพื้นที่เริ่มเห็นอัตราป่วยค่อนข้างคงที่ไม่เพิ่มขึ้นเหมือนระยะแรก ถือเป็นสัญญาณที่ดี และการมีคณะอนุกรรมการสนับสนุนป้องกันฯ มาสนับสนุนและเป็นหน่วยงานกลางประสานกับทุกภาคส่วน จะทำให้การป้องกันไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากประชาชนทุกคน สามารถช่วยหยุดการระบาดของโรคนี้ได้ ด้วยการมีสุขนิสัยที่ดีในการไอ จาม หมั่นล้างมือ ข้อสำคัญที่สุดคือหากป่วยมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ แม้อาการน้อยก็ขอให้หยุดงานหรือหยุดเรียนเฝ้าสังเกตอาการ และแยกพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ถ้าอาการน้อยจะหายได้เอง แต่หากเริ่มมีอาการมากหรือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงให้ไป หาหมอทันที การหยุดสังเกตอาการแยกตัวอยู่ที่บ้าน จะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยและตัดวงจรระบาด

นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจัดการปัญหาไม่ได้ คนไทยทุกคนต้อง “รวมพลังสู้หวัด 2009” ซึ่งคณะอนุกรรมการฯเห็นตรงกันว่า ยุทธศาสตร์สำคัญคือสร้างเจ้าภาพร่วมในการทำงาน โดยมาตรการเร่งด่วนจะดำเนินการใน 7 หน่วยงานและสถานที่ที่มีคนจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 33 ล้านคน 1.สถาบันการศึกษา ผ่านกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสังกัดกทม. เอกชน 40,153 โรง ที่มีนักเรียน นักศึกษาในความดูแล 20 กว่าล้านคน จะมีมาตราการเข้มข้นในการคัดกรองผู้ป่วย ทำความสะความสะอาดจุดสัมผัสร่วมกัน ให้นักเรียนมีแก้วน้ำและช้อนทานอาหารของตนเอง พร้อมทั้งสนับสนุนสื่อให้ความรู้เรื่องไข้หวัด 2009 2.สถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยรัฐ เอกชน ราชภัฎ ราชมงคล มีมาตรการเข้มข้นคัดกรองผู้ป่วย และจะประชุมร่วมกันภายในกลางเดือนนี้ เพื่อให้เยาวชนมาร่วมเป็นพลังในการป้องกันโรค

“กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มบริการขนส่งสาธารณะ องค์การขนส่งมวลชนฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ที่จะติดตั้งเจลล้างมือบริเวณให้บริการ อาทิ บนรถเมล์ ท่าเรือ สถานี ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะสนับสนุน 2 รูปแบบ คือ การมอบเจลล้างมือให้ในช่วงแรก และประสานกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อให้หน่วยงานต่างๆจัดซื้อในราคาต่ำ โดยมีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะไม่ต่ำกว่า 2 ล้าน 6 แสนคนต่อวัน คาดว่าจะเริ่มติดตั้งจุดล้างมือได้ภายในสัปดาห์หน้า กลุ่มที่ 4 คือ 3 เหล่าทัพ ที่ได้รับความร่วมมือ จากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ที่จะให้นำสื่อให้ความรู้เรื่องไข้หวัดเข้าไปเผยแพร่ ซึ่งเป็นนโยบายของทุกเหล่าทัพที่จะป้องกันไข้หวัด 2009 เพื่อดูแลกำลังพลและครอบครัวกว่า 2 ล้านคน”นพ.มงคล กล่าว

นพ.มงคล กล่าวอีกว่า กลุ่มที่ 5.กรุงเทพมหานคร ที่ร่วมมือจัดมาตรการดูแลสถานที่ชุมชน อาทิ สวนสาธารณะ ตลาด โรงเรียน 6.กระทรวงแรงงาน ที่จะร่วมสนับสนุนสื่อในการจัดคาราวานแรงงานป้องกันไข้หวัด 2009 ทั่วประเทศ ที่มีแรงงานในประกันสังคมกว่า 9 ล้านคน 7.ชุมชนท้องถิ่น ผ่านกระทรวงมหาดไทย สนับสนุนสื่อใน อบต.ทั้ง 6,746 แห่ง โดยคณะอนุกรรมการฯ จะเดินหน้าประสานความร่วมมือ และสนับสนุนหน่วยงานอื่นๆต่อไป เพราะการ “ป้องกัน” คือการต่อสู้กับโรคไข้หวัด 2009 ได้อย่างดีที่สุด ส่วนมาตรการระยะยาวด้านวิชาการ ได้สนับสนุนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาวิจัยพัฒนาวิธีการตรวจสอบภูมิต้าน ทาน เพื่อทราบภูมิคุ้มกันในระดับชุมชน และใช้ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน พร้อมทั้งศึกษาระบบควบคุมป้องกันโรค เพื่อเตรียมทำข้อเสนอแนะปรับปรุงระบบของไทย ต่อรัฐบาลสำหรับหน่วยงานและประชาชน สามารถติดต่อขอรับสื่อให้ความรู้ อาทิ โปสเตอร์ สติกเกอร์ ได้ที่หมายเลข 1330 และ 1422 หรือดูข้อมูลได้ที่ www.flu2009thailand.com ที่จะมีวิธีการทดสอบการป่วยหรือไม่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ องค์ความรู้และข้อมูลจากทั่วโลก ที่ปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ

ที่มา: http://www.komchadluek.net/detail/20090807/23472/%E0%B8%AA%E0%B8%98.%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%942009%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA.%E0%B8%84.%E0%B8%81.%E0%B8%A2.%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น